ก.เกษตรฯ เผยปีนี้ราคาทุเรียนเหมาสวนสูงถึง 110 บาทต่อกิโลกรัม

ก.เกษตรฯ เผยปีนี้ราคาทุเรียนเหมาสวนสูงถึง 110 บาทต่อกิโลกรัม

ก.เกษตรฯ กำชับเกษตรกรผลิตทุเรียนคุณภาพป้อนตลาด ปีนี้ราคาทุเรียนเหมาสวนสูงถึง 110 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากกว่าทุกปี

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยเปิดตลาดส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ด้วยวิธีการซื้อขายผ่านออนไลน์ ส่งผลให้ราคาทุเรียนรับซื้อปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีแก่เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก โดยในปีนี้ราคาทุเรียนเหมาสวนสูงถึง 110 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากกว่าทุกปี ทำให้มีข้อกังวลว่าเมื่อราคาทุเรียนสูงขึ้น อาจส่งผลให้ชาวสวนเร่งตัดผลผลิต ซึ่งทำให้คุณภาพของทุเรียนลดลงนั้น

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามสถานการณ์และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด อาทิ ด้านคุณภาพของทุเรียนส่งออกไปจีน กรมวิชาการเกษตรได้มีพิธีสารกำกับดูแล โดยกำหนดให้การส่งออกทุเรียนคุณภาพมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับรอง GAP โรงคัดบรรจุที่ได้รับรอง GMP และตรวจสอบออกใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยข้อกำหนด GAP กำหนดให้มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบในประเด็นทุเรียนอ่อนเพิ่มเติม โดยการทวนตรวจสอบที่โรงคัดบรรจุว่ามีการรับวัตถุดิบที่เหมาะสมเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพอีกทางหนึ่ง เพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมตรวจสอบระดับจังหวัด รวมทั้งมีประกาศกำหนดเรื่องการจดทะเบียน ผู้ส่งออกทุเรียน ซึ่งกำหนดให้ติด sticker ที่ขั้วผล เพื่อให้เป็นช่องทางการแจ้งปัญหาที่ผู้ซื้อพบ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะตรวจสอบการติด sticker ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืชอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนางดาเรศร์  กิตติโยภาส โฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด รายงานสถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายไม้ผลภาคตะวันออกทุกสัปดาห์ โดยขณะนี้มีทุเรียนออกสู่ตลาดไปแล้ว 112,817 ตัน คิดเป็น 27.93% และผลผลิตที่ยังไม่เก็บเกี่ยว 291,089 ตัน คิดเป็น 72.07% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2561) ซึ่งในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 จะเป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด ไม่ใช่เป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตที่มักประสบกับปัญหาทุเรียนอ่อน อย่างไรก็ดีได้มีมาตรการป้องกันปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และมีการส่งเสริมในรูปแบบแปลงใหญ่ทุเรียนในภาคตะวันออก จำนวน 23,092 ไร่ มีสมาชิก 3,079 ราย ซึ่งการผลิตทุเรียนคุณภาพในรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ การลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ถ่ายทอดองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดแก่เกษตรกรที่ยังไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่าน ศพก.เครือข่าย สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับซื้อ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศได้