ศาลสหรัฐชี้ ‘ลิงเซลฟี’ ฟ้องป้องลิขสิทธิ์ไม่ได้

ศาลสหรัฐชี้ ‘ลิงเซลฟี’ ฟ้องป้องลิขสิทธิ์ไม่ได้

ศาลสหรัฐชี้ขาดว่า ลิงยื่นฟ้องขอคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ได้ และกลุ่มสิทธิสัตว์ก็ยื่นฟ้องแทนไม่ได้เช่นกัน เพราะลิงไม่มีสถานะตามกฎหมาย หลังกลุ่มสิทธิสัตว์อุทธรณ์คำตัดสินให้ช่างภาพชาวอังกฤษได้เป็นเจ้าของภาพลิงกังดำเซลฟีตัวเอง

คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เขต 9 ในนครซานฟรานซิสโก มีความเห็นว่า “นารูโตะ” ลิงกังดำที่เซลฟีตัวเองฉีกยิ้มหน้ากล้องที่นายเดวิด สเลเตอร์ จงใจวางไว้ในป่าอินโดนีเซียเพื่อให้สัตว์มากดถ่ายเองเมื่อปี 2554 ไม่มีสถานะตามกฎหมาย เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ให้อำนาจแก่สัตว์ในการยื่นฟ้องเรื่องถูกละเมิดลิขสิทธิ์

คำพิพากษายังชี้ว่า กลุ่มสิทธิสัตว์ “พีต้า” ที่ยื่นฟ้องในฐานะโจทก์แทนนารูโตะก็ไม่ใช่คนใกล้ชิดตามกฎหมาย และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความสนิทสนมกับลิงตัวนี้ 

นายเจฟฟ์ เคอร์ ที่ปรึกษาทั่วไปของพีต้าแถลงหลังทราบคำตัดสินว่า การที่ศาลไม่ยอมรับว่านารูโตะมีสิทธิที่จะฟ้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐตอกย้ำสิ่งที่พีต้าต่อสู้มาตลอดว่า นารูโตะถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะว่าเป็นสัตว์

พีต้าเคยแย้งว่า นารูโตะเป็นเจ้าของตามกฎหมายภาพทั้งหมดที่มันกดถ่ายตัวเองจากกล้องที่นายสเลเตอร์วางไว้ แต่ผู้พิพากษาศาลซานฟรานซิสโกชี้ขาดเมื่อเดือนม.ค. 2559 ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุมไปถึงสัตว์ 

ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงยอมความนอกศาลเมื่อปีที่แล้วว่า นายสเลเตอร์จะบริจาคเงิน 1 ใน 4 ที่จะได้จากการจำหน่ายภาพของนารูโตะให้แก่องค์กรการกุศลคุ้มครองนารูโตะและลิงกังดำตัวอื่น ๆ ในอินโดนีเซีย 

พีต้านำเรื่องนี้กลับมาอุทธรณ์ต่อศาลในสหรัฐ เนื่องจากหนังสือภาพถ่ายของนายสเลเตอร์ไปวางจำหน่ายในสหรัฐ เขาเคยเผยว่า หนังสือที่ลงทุนตีพิมพ์เองนี้ขายได้ไม่ถึง 100 เล่มแม้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก