'คลัง' จี้หั่นดอกเบี้ยอุ้มเอสเอ็มอี

'คลัง' จี้หั่นดอกเบี้ยอุ้มเอสเอ็มอี

"คลัง" หวัง “แบงก์ชาติ” จี้ ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยให้ “เอสเอ็มอี” ระบุชัด แม้ส่วนต่างดอกเบี้ยกู้-ฝาก เฉลี่ยที่ 2% แต่รายย่อยถูกชาร์จแพงกว่า ย้ำกลไกตลาดไม่สมบูรณ์ ผู้กำกับดูแลต้องทำให้ดี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออก กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ยังมีอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจด้านต้นทุนที่มากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราที่ต่ำลง โดยเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังกังวลและได้แจ้งกับธปท.ทุกครั้งที่มีการประชุม

ปัจจุบัน สถาบันการเงินมีส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยกู้กับเงินฝากเฉลี่ยที่ 2% ก็ถือว่า อยู่ในระดับไม่ได้สูงมาก แต่เมื่อพิจารณาไส้ในจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่นั้นต่ำมาก บางรายคิดดอกเบี้ย 1% โดยมีปริมาณสินเชื่อสูง ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น อยู่ในระดับสูง เมื่อนำมาเฉลี่ยกันแล้ว ทำให้สถาบันการเงินได้รับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

“เสปรดก็ไม่ได้สูงมากอยู่ที่ 2% กว่า ก็อยู่ในวิสัย แต่สิ่งที่ทำให้ออกมา 2% กว่า เพราะอะไร เพราะปล่อยรายใหญ่ต่ำมาก 1% ก็มี เมื่อปล่อยตรงนี้ต่ำ วอรุ่มเยอะ ก็ต้องหาตัวมาเฉลี่ย คือ คนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง จะคิด10% เขาก็รับ เพราะไม่มีทางเลือก รายเล็กก็แบกรับ ขณะที่ รายใหญ่ก็เอ็นจอย เมื่อเฉลี่ยกำไรก็ 2% กว่า ถามว่า คนตัวเล็กจะทำอย่างไร ถ้าปล่อยก็เจ๊ง”

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำได้ ก็คือ การเข้าไปช่วยเรื่องซอฟท์โลน แต่ต้องใช้งบประมาณ เพราะระบบไม่ทำงาน รัฐบาลก็บังคับให้แบงก์ไปลดดอกเบี้ยไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปแทรกแซง ก็มีคำถามว่า เอกชนที่ทำแบงก์ ทำอะไรได้ไหม แบงก์รัฐเอง ฐานลูกค้าอีกกลุ่มที่ไม่สามารถหาแหล่งเงิน และ มีความเสี่ยงสูงมากกว่า ถ้าหนี้เสียแบงก์เอกชนอยู่ที่ 1% แบงก์รัฐก็ 3-4% ก็ถือเป็นต้นทุน

เขากล่าวด้วยว่า กลไกตลาดในปัจจุบันอาจไม่สมบูรณ์ คนที่เป็นคนกำกับต้องทำให้ดี เพราะดอกเบี้ยนโยบายมีกระทบหลายตัว ไม่ใช่จุดประสงค์เดียว โดยดอกเบี้ย มีผลต่อเนื่องหลายเรื่อง เช่น การเติบโตเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยต่ำ บริโภคก็ดี ลงทุนก็น่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อก็จะดีขึ้น การตกขอบของเงินเฟ้อก็จะช่วยเหลือได้ แต่ว่า ไม่ดีกับประชาชนที่ออม ต้องพึ่งพาดอกเบี้ย แต่ขณะเดียวกัน เมื่อดอกเบี้ยต่ำ การไหลเข้าของเงินก็น้อย เมื่อไหลเข้าน้อย ผลที่ตามมา อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่แข็งมาก แต่เราค้าขายเก่ง เงินก็ไหลเข้า แต่ก็กันเงินที่ไม่ใช่มาหาประโยชน์กับเราเข้ามา

“แต่ที่ไม่มองกัน คือ ต้นทุนของประเทศ หรือ ของแบงก์ชาติเอง เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนก็จะถูกลง ส่วนใหญ่ไม่มองกัน ฉะนั้น ถ้ามองกลับไปที่อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่เขาทำ คือ พยายามกดดอกเบี้ยให้เหลือเกือบศูนย์ เหตุผลหลัก คือ ต้นทุน เพราะถ้าปล่อยให้ดอกเบี้ยขึ้น ภาระหนี้รัฐบาล แบงก์ชาติ จะแบกรับเท่าไร เขาถึงพยายามกดให้ต่ำ พอไปได้แล้วก็ปล่อยให้ลอยขึ้น” เขากล่าวและว่า

กรณีดอกเบี้ยของไทยนั้น ก็เหมือนกัน คือ หากดอกเบี้ยต้องอยู่ในจุดที่ต่ำสุด ไม่ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหามั่นคง และการไหลออกจของเงิน