ป.ป.ส.จับมือนิด้าทำMOUร่วมมือวิชาการด้านยาเสพติด

ป.ป.ส.จับมือนิด้าทำMOUร่วมมือวิชาการด้านยาเสพติด

ป.ป.ส.จับมือนิด้า ลงนาม MOU ขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการ และองค์ความรู้ด้านยาเสพติด

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 เมษายน 2561 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน ป.ป.ส.

นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า "สำนักงาน ป.ป.ส. และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือทางวิชาการ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจากสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในระดับพื้นที่ทั่วประเทศมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความร่วมมือและการสนับสนุนทางวิชาการระหว่างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถที่จะมีองค์ความรู้ และข้อมูลทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศอย่างยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย

ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญที่บ่อนทำลายเศรษฐกิจสังคม และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะเป็นเส้นทางลำเลียง และมีการแพร่กระจายยาเสพติด ทุกรัฐบาลจึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ทางวิชาการมาสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ในการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการประเมินผลการดำเนินงานด้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดจนมีแนวทางการประเมินองค์กร เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงองค์กรในทางที่ดีขึ้นอย่างมีแบบแผน โดยมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

1) การพัฒนางานวิจัย วิชาการ และองค์ความรู้ด้านยาเสพติด
2) การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนด้านยาเสพติด (POLL)
3) การพัฒนาบุคลากร เพื่อพัฒนานักยุทธศาสตร์ การบริหาร อาทิ พัฒนานักยุทธศาสตร์ การบริหาร การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคต่างๆ การพยากรณ์ข้อมูล และการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4) การประเมินผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกระดับ
5) การประเมินบทบาท ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตลอดจนความคุ้มค่าในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาและสร้างนวัตกรรมขององค์กรในทางที่ดีขึ้นอย่างมีแบบแผน