กรมวิทย์ฯ ตรวจพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปนปลอมยาลดน้ำหนัก

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปนปลอมยาลดน้ำหนัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักและบำรุงที่จำหน่ายมีการปนปลอมยาลดน้ำหนัก ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาระบาย และยาไวอากร้า ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับอันตราย ถึงตาย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ได้ตรวจเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักและบำรุงกำลังที่จำหน่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 (จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี) และเขตสุขภาพที่ 4 (จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครนายก ลพบุรี และ สระบุรี)จำนวนทั้งสิ้น 72 ตัวอย่าง พบการปนปลอมของยาถึง 36 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 50 โดยพบยาในกลุ่มลดน้ำหนัก ได้แก่ ไซบูทรามีน (Sibutramine) จำนวน 13 ตัวอย่าง ซึ่งยานี้ไม่มีขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ออกฤทธิ์กับประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารหากรับประทานมากๆ ติดต่อกันนานๆ อาจจะส่งผลให้ประสาทหลอนและพบยาฟลูออกซีทีน (Fluoxetine) พบจำนวน 4 ตัวอย่าง เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวลซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหารนอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เหงื่อออก สับสน มีอาการชักท้องเสีย วิงเวียน หายใจลำบาก และพบยาระบายบิสซาโคดิล (Bisacodyl) อีกจำนวน 9 ตัวอย่างเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวจนเกิดการขับถ่าย ใช้บรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้นไม่มีผลต่อการลดความอ้วน

นอกจากนี้ยังพบยาในกลุ่มเสริมสมรรถภาพทางเพศ คือ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) รู้จักกันดีในชื่อยา ไวอากร้า (Viagra) อาจทำให้คลื่นไส้วิงเวียน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจหัวใจวายเสียชีวิตได้จำนวน 10 ตัวอย่างโดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบทั้งหมดอยู่ในรูปแบบแคปซูลและผง ทั้งหมดไม่พบการขึ้นทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่าผู้บริโภคที่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนักมาใช้ในการลดน้ำหนักมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากยาที่มีการปนปลอมค่อนข้างสูง

download (1)

"ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการปนปลอมยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป" นายแพทย์สุขุมกล่าว