‘น่าน’นำร่องเกษตรนวัตกรรม

‘น่าน’นำร่องเกษตรนวัตกรรม

วว. ส่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านเห็ดช่วย 2 วิสาหกิจชุมชนใน จ.น่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 10 พื้นที่เป้าหมายโครงการวิทย์แก้จนลดต้นทุนผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มครบวงจร ไต่ระดับเป็น “ชุมชนต้นแบบเกษตรนวัตกรรม”

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ส่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านเห็ดช่วย 2 วิสาหกิจชุมชนใน จ.น่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 10 พื้นที่เป้าหมายโครงการวิทย์แก้จน สามารถลดต้นทุนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มครบวงจร ไต่ระดับเป็น “ชุมชนต้นแบบเกษตรนวัตกรรม”

นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่กลุ่มเพาะเห็ดบ้านศรีนาชื่น เพื่อลดต้นทุนการผลิตก้อนเห็ด การวางแผนผลิตหัวเชื้อและดอกเห็ด แนวทางการปรับปรุงสถานที่ผลิตหัวเชื้อให้ได้มาตรฐาน สามารถลดต้นทุนได้16,072 บาทต่อโรงเรือน หรือลดลงมากกว่า 40% คาดว่าจะทำให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น 2.08 แสนบาทต่อปี

พร้อมทั้งพัฒนาเตานึ่งก้อนเห็ดโดยปรับมาใช้พลังงานชีวมวลคือถ่านจากการตัดแต่งกิ่งลำไยทดแทนการใช้แก๊ส ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงจาก 614 เหลือ 425 บาทต่อครั้ง และกำลังจะนำเทคโนโลยีการแปรรูปดอกเห็ดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยอบรมเทคนิคการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางพาราให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งศรีทอง อ.เวียงสา

ดังนั้น เพื่อเป็นการสานต่อแนวทางการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้จัดงาน “มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค” พร้อมทั้งเปิดตัว 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร และ โครงการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญและน่าน

โครงการแรกมุ่งสร้างโอกาสให้เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าถึง วทน. ผ่านการสร้างนวัตกรรมเกษตรจากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการต่อยอดจากโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วย วทน. โดยในปีที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ 4,164 คน สามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตร 76%

รวมถึงพัฒนาทักษะและขีดความสามารถในการผลิต แปรรูปและจัดจำหน่าย สร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรจากเกษตรกรที่ขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบ 1,180 ราย พัฒนา/ยกระดับผลิตภัณฑ์ได้ 23 ผลิตภัณฑ์ และสร้างชุมชนเกษตรนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบการพัฒนาระบบการจัดการเกษตรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม 3 ชุมชน

“โครงการ “1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร” มีระยะดำเนินงาน 3 ปี โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มุ่งสร้างนวัตกรรมเกษตรจากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นใน 878 อำเภอ ปีที่2 จะขยายผลในพื้นที่ 3,500 ตำบล ผ่านเครือข่ายการวิจัยแบบมีส่วนร่วมทางการเกษตร 878 เครือข่าย และปีที่ 3 ขยายผลในพื้นที่ 7,255 ตำบล 878 เครือข่าย” นางลักษมี กล่าว

ส่วนโครงการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งยกระดับสินค้าโอทอป 2,000 กลุ่ม/รายในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย ผ่านกลไกประชารัฐและผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏและสถาบันอาชีวศึกษา ดำเนินการโดย วว.และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)

“จากความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 หน่วยงานจะสามารถพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าโอทอปทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้า-เครื่องแต่งกาย และของใช้ ของประดับ-ของที่ระลึก ให้มีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภูมิภาคได้ตามเป้าหมาย” นางลักษมี กล่าว