แห่ฟ้องม.157เอาผิด 'จนท.รัฐ' ยอดพุ่งที่1 เผยตร.โดนมากที่สุด

แห่ฟ้องม.157เอาผิด 'จนท.รัฐ' ยอดพุ่งที่1 เผยตร.โดนมากที่สุด

เปิดสถิติศาลยุติธรรม เผยแห่ฟ้องม.157เอาผิด "จนท.รัฐ" ยอดพุ่งอันดับ1 โดนมากที่สุดคือ "ตำรวจ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนครบรอบสถาปนาศาลยุติธรรม 136 ปี ได้เผยแพร่สถิติคดี ที่เข้าสู่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางและภาค 1-9 ในช่วงปี 2560 ที่่ผ่านมา โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ทยอยเปิดทำการตั้งแต่เดือน ต.ค.59 กระทั่งครบทั้ง 9 ภาค เมื่อเดือน เม.ย.60 โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค.60 มีคดีอาญาเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 1,178 คดี , พิพากษาพิจารณาแล้วเสร็จ 762 คดี คิดเป็นร้อยละ 64.69 ของปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณา

ส่วนคดีแพ่ง มีทั้งสิ้น 4 คดี โดยเข้าสู่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง 3 คดี และเข้าสู่ศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 5 (ภาคเหนือ) อีก 1 คดี ซึ่งทั้งสิ้นคดียังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ในการพิจารณาคดี พบว่า ปริมาณคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ยทั้งสิ้น 33 คดี จำแนกเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำานวน 32 คดี โดยมีการยกเลิกการไกล่เกลี่ย 8 คดี ส่วนที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จจำนวน 8 คดี และดำเนินการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำนวน 14 คดี ซึ่งยังอยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย 2 คดี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 (ภาคตะวันตก) 1 คดี ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการไกล่เกลี่ย โดยระยะเวลาที่พิพากษาคดีแล้วเสร็จ ตามสถิติเดือน ม.ค.- ธ.ค.60 พบว่า คดีที่พิพากษาเสร็จในช่วงระยะเวลาเกิน 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 265 คดี คิดเป็น 34.78%

รองลงมาพิพากษาเสร็จในเวลาไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 170 คดี คิดเป็น 22.31% และถัดมาคือพิพากษาเสร็จในระยะเวลา 6 เดือนไม่เกิน 1 ปีจำนวน 151 คดี คิดเป็น 19.82% อย่างไรก็ดีถือว่าคดีที่เข้าสู่การพิจารณาและพิพากษาแล้วเสร็จ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงระหว่าง 1 เดือนไม่เกิน 2 ปี

ส่วนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนไม่เกิน 1 ปี มี 116 คดี คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงระยะเวลาเกิน 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 101 คดี คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงระยะเวลาเกิน 1 ปีไม่เกิน 2 ปี มี 39 คดี และปริมาณคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในนช่วงระยะเวลาเกิน 2 ปีแต่ไม่เกิน 4 ปี มีจำนวน 3 คดี ซึ่งขั้นตอนที่คดีค้างของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนของการสืบพยาน ถัดมาคือขั้นตอนที่อยู่ระหว่างรอการวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ และสุดท้ายขั้นตอนรอคำพิพากษา/คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาด

ทั้งนี้ในส่วนคดีอาญาช่วงปี 2560 ที่มีการยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลอุทธรณ์ สถิติพบว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นศาลที่มีปริมาณ ส่งคดีไปยังศาลอุทธรณ์ มากเป็นอันดับแรก จำนวน 189 คดี รองลงมา คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 (ภาคอีสาน) จำนวน 11 คดี และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคภาค 8 (ภาคใต้) จำนวน 10 คดี โดย ขณะที่การอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้น มีเพียงศาลเดียวที่ส่งคดีไปยังศาลฎีกา คือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 36 คดี

อย่างไรก็ตามคดีที่เกี่ยวกับบุคลากรในหน่วยงานที่ถูกฟ้อง ใน 5 อันดับ อันดับที่ 1 คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 402 คน อันดับที่ 2 กระทรวงมหาดไทย 368 คน อันดับที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบล 351 คน อันดับที่ 4 กระทรวงศึกษาธิการ 348 คน อันดับที่ 5 องค์การบริหารส่วนเทศบาล 195 คน

สำหรับข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และภาค1 - 9 ในปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,295 ข้อหา โดยข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณา 5 อันดับ ซึ่งอันดับที่ 1 ฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริตหรือโดยมิชอบ (ประมวลกฎหมายอาญา ม.157) จำนวน 757 ข้อหา  อันดับที่ 2 ฐานเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ (ม.147) จำนวน 82 ข้อหา อันดับที่ 3 ฐานเจ้าพนักงานใช้ตำแหน่งโดยทุจริต (ม.151) จำนวน 69 ข้อหา อันดับที่ 4 ฐานเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ (ม.162) จำนวน 68 ข้อหา อันดับที่ 5 ความผิดเกี่ยวกับบุคคลเรียก รับหรือให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์หรือการใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำใด จำนวน 35 ข้อหา

ส่วนการให้ประกันตัวคดีอาญานั้น พบว่าในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนายประกันที่ผิดสัญญานายประกัน จำนวน 7 คน เป็นเงิน 2,002,000 บาท โดยมีนายประกันที่ค้างบังคับตามสัญญาประกัน จำนวน 22 คน เป็นเงิน 7.6 ล้านบาท.