เด็กรร.กรุงเทพคริสเตียน สร้างดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

เด็กรร.กรุงเทพคริสเตียน สร้างดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

เด็กมัธยม รร.กรุงเทพคริสเตียน สุดเจ๋ง สร้าง BCCSAT-1 ดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมส่งเข้าสู่วงโคจรปลายปี 2562

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่หอธรรม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จัดพิธีลงนามข้อตกลงด้านการเรียนการสอนโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม (BCC SPACE PROGRAM) ระหว่างโรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย ร่วมกับ หน่วยวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ Intelligent Space System Laboratory (ISSL) มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และบริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด (AstroBerry Limited) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในการสังเคราะห์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง เศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ หรือแม้แต่มนุษยชาติในอนาคต อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณลักษณะสำคัญของเยาวชน ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ตามแนวทาง Thailand 4.0

เด็กรร.กรุงเทพคริสเตียน สร้างดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

นายศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการบีซีซี สเปซโปรแกรม ด้วยความเป็นโรงเรียนเอกชน จึงต้องตระหนักมองการไกลและต้องไปให้ได้มากกว่าว่า การศึกษาที่ล้ำสมัยจะสนองตอบความต้องการของเด็ก ผู้ปกครอง และประเทศชาติ โดยได้มีโอกาสพบกับ ศ.ดร.ชินอิจิ นากาซึกะ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์เรื่องดาวเทียมขนาดเล็ก ได้มาเสนอแนวความคิด เมื่อได้ฟังแนวคิดจึงเห็นด้วยในการที่จะนำความรู้ความสามารถออกไปนอกโลก เพราะดาวเทียมคือเรื่องของอนาคตเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์เกิดการต่อยอดทางความคิดไปได้มากมาย ดังนั้น เชื่อได้ว่าในอนาคตแทบทุกครัวเรือนจะมีช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นของตนเอง ฉะนั้น หากใครเริ่มก่อนจะมีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จได้ก่อน

นายศุภกิจ กล่าต่อไปว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จึงได้เข้าร่วมโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม เมื่อปลายปี 2560 เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา โดยตั้งเป้าหมายที่จะบุกเบิกโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศสำหรับนักเรียนมัธยม ซึ่งเริ่มสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ CubeSat เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี 2562 โดยจะเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดวงในโลกที่ถูกพัฒนาและส่งเข้าสู่วงโคจรด้วยฝีมือของนักเรียนระดับมัธยม นอกเหนือจากนี้ ทางโรงเรียนฯ ได้เตรียมสร้างห้องปฏิบัติการด้านอวกาศ (Space Laboratory) และสถานีควบคุมและสื่อสารภาคพื้นดิน (Ground Station) เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศต่อไปในอนาคต

เราต้องการให้เด็กนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ซึ่งแม้มหาวิทยาลัยทั่วโลกจะสร้างดาวเทียมมากพอสมควร แต่ในระดับนักเรียนถือว่ายังมีน้อยมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังไม่มีเลย ขณะนี้ โรงเรียนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 มีนักเรียนระดับชั้น ม.4 จำนวน 27 คน ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มแรกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยในปีการศึกษา 2561 เราเริ่มนับถอยหลังจากนี้ 2 ปี ดาวเทียมจะต้องสร้างให้เสร็จ เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี 2562 เนื่องจากได้นำงบประมาณ 7 ล้านบาทไปเช่าพื้นที่จรวดของประเทศรัสเซียเพื่อนำดาวเทียมไปปล่อยบนอวกาศ ทั้งนี้ หากจะถามว่าการสร้างดาวเทียมได้ประโยชน์อะไร ขอให้มองเรื่องดาวเทียมกับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเดียวกัน แนวความคิดอันดับ 1.เปิดโลกความคิดเปิดสมองของเด็กทางการศึกษา 2.เกิดโลกของการเรียนรู้ การทำงานเป็นทีม การประกอบ การควบคุมวงโคจรของดาวเทียม เพราะดาวเทียมสามารถถ่ายรูปได้ หากเด็กต้องการถ่ายรูปกำแพงเมืองจีน เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ในการควบคุมวงโคจร การคำนวณเวลา 3.เมื่อมีดาวเทียมก็จะต้องมีสถานีภาคพื้นดิน (Ground Station) จะเกิดการสื่อสารระหว่างกันทั่วโลก เมื่อดาวเทียมไปหยุดอยู่ที่สถานีไหนของประเทศนั้นจะใช้ประโยชน์ของดาวเทียมที่มีอยู่ได้มากมายบนอวกาศ” นายศุภกิจ กล่าว

นายกิตนาถ ชูสัตยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัท อัสโตรเบอร์รี่ ก่อตั้งขึ้นโดย ท่านศาสตราจารย์ ดร. ชินอิจิ นากาซึกะ และดร.พงศธร สายสุจริต ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสารในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างและพัฒนาอุตสหกรรม เทคโนโลยีและกิจการอวกาศในประเทศไทย เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรในห้วงอวกาศ อันเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้

“โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและกิจการด้านอวกาศ ได้กำหนดกรอบความร่วมมือ (Collaboration Framework) เพื่อดำเนินการพัฒนาและเสริมสร้างความพร้อมของประเทศใน 4 มิติ ได้แก่ 1)ด้านการพัฒนาบุคคลากรทุกระดับ (ภาคการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน) 2)ด้านการรวบรวม การสร้างและการพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการด้านอวกาศจากความร่วมมือของหลากหลายองค์กร 3)ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเพื่อนำเอาบุคลากรและองค์ความรู้และวิทยาการด้านอวกาศมาร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศอย่างยั่งยืน และ 4)ด้านการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจอวกาศ (Sustainable Space Economy) ด้วยอุตสหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) จากวิทยาการ เทคโนโลยีและทรัพยากรในห้วงอวกาศ สำหรับโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม บริษัทฯ รับผิดชอบในการบริหารจัดการโครงการโดยรวม ร่วมกับทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และยังเป็นผู้รับผิดชอบ ในการพัฒนาและควบคุมการผลิตดาวเทียม BCCSAT-1 รวมถึงการส่งเข้าสู่วงโคจร” นายกิตนาถ กล่าว

ด้าน รศ.ดร. อุดมเกียรติ นนทแก้วคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า มจพ. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับโลกอย่างต่อเนื่องในการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการส่งดาวเทียม KNACKSAT เข้าสู่วงโคจร นับเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยที่ออกแบบและดำเนินการสร้างโดยคณะอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และนับเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทย 100% ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ มจพ. จึงได้เข้าร่วมในโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม โดยให้การสนับสนุนทางด้านการอบรมและฝึกสอนให้แก่นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมทั้ง ทาง มจพ.ได้ส่งอาจารย์เข้าไปสอนนักเรียนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดีและอำนวยความสะดวกในการใช้ห้องปฏิบัติการด้านอวกาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดาวเทียมในโครงการนี้

ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลหลากหลายประเภท ปัจจุบันการศึกษาเอกชนมีความก้าวหน้าและปีนี้ก็ครบรอบ 100 ปีการศึกษาเอกชน ถือได้ว่ามีความเป็นมาที่ยาวนาน เช่นเดียวกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก็มีประวัติและความก้าวหน้ามายาวนานและน่าชื่นชม ที่สำคัญมีความโดดเด่นเรื่องของวิชาการ โดยเฉพาะครั้งนี้ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดการเรียนการสอนโครงการบีบีซี สเปซโปรแกรม ถือเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ นำเรื่องดาวเทียมและอวกาศมาสอนแก่เด็กระดับมัธยม จัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้นถึง 630 ชั่วโมงตลอดหลักสูตรซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่ตนมองว่าเป็นความท้าทายในการจัดการศึกษาและต้องกล้าที่จะทำ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศในปัจจุบันมุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น การศึกษาจะเป็นพื้นฐานในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ อย่างไรก็ตาม โครงการบีบีซี สเปซโปรแกรม นับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบสำคัญในการจัดการศึกษาและพัฒนาบุคลากร และเชื่อว่าจะมีการขยายผลต่อไปในอนาคตแน่นอน

เด็กรร.กรุงเทพคริสเตียน สร้างดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

นายชยธร ฉัตรธนมพรโยธิน

นายชยธร ฉัตรธนมพรโยธิน นักเรียนชั้น ม.4 กล่าวว่า สมัครเข้าโครงการบีซีซี สเปซโปรแกรม เพราะมีความสนใจในเรื่องของทักษะการทำงานจริงเกี่ยวกับอวกาศ โดยมีแผนที่จะศึกษาต่อในอนาคต จากที่ได้เข้าเรียนเริ่มต้นจะเรียนวิชาพื้นฐานช่วงปิดภาคเรียนก่อน ทั้งการออกแบบวงจร การเขียนโปแกรม เรียนรู้วิธีการออกแบบโครงสร้าง การบริหารจัดการในการสร้างชิ้นงาน เมื่อเปิดเทอมก็จะเน้นการปฏิบัติการ โดยนำความรู้จากการเรียนพื้นฐานมาเริ่มการทดลองทำดาวเทียมกระป๋องก่อน มีการทดสอบภารกิจก่อนการส่งดาวเทียมจริง

“การสร้างดาวเทียมเป็นกระบวนการฝึกเด็กเพื่อเป็นผู้สร้าง ให้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ควบคุม โดยกระบวนการสร้างสิ่งสำคัญคือต้องรู้จักบริหารจัดการให้เป็น ก็จะสามารถสร้างดาวเทียมได้สำเร็จ ซึ่งต่างจากการเป็นผู้ใช้ เพราะการเป็นผู้ใช้เมื่อเกิดความเสียหายจะแก้ไขไม่เป็น โดยถ้าสามารถสร้างดาวเทียมเองได้ จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ด้วย”นายชยธร กล่าว

เด็กรร.กรุงเทพคริสเตียน สร้างดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

นายชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์

นายชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ ชั้นม.4  กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี แรงบันดาลใจน่าจะเกิดตั้งแต่ช่วงประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้มีโอกาสไปแข่งขันพวกสิ่งประดิษฐ์เริ่มรู้สึกว่าชอบ อยากจะเรียนรู้ ประกอบกับคุณพ่อก็ทำงานเกี่ยวกับด้านไอทีอยู่แล้วทำให้มีความผูกพันมาแต่เด็ก ที่ผ่านมาพยายามฝึกฝนเรียนรู้ตลอด ทั้งการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทดลองเขียนโมบายแอปพลิเคชัน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเปิดรับสมัครโครงการบีบีซี สเปซโปรแกรมก็เลยตัดสินบอกกับพ่อและแม่ว่าอยากจะเรียนด้านนี้ ซึ่งที่บ้านก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ก็สมัครและได้รับคัดเลือกเข้าเรียน

“หลายคนอาจจะมองว่าดาวเทียม อวกาศเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ผมว่าในปัจจุบันยุคของเทคโนโลยี นวัตกรรมสิ่งเหล่านี้ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ถ้าเราสามารถพัฒนาจนสามารถปล่อยดาวเทียมได้เป็นผลสำเร็จก็น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราใกล้ชิดกับนวัตกรรมได้มากขึ้น อีกทั้ง ดาวเทียมจะเป็นแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลมหาศาล ที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาได้ ซึ่งในการเรียนนี้พวกผมและเพื่อนจะต้องร่วมกำหนดภารกิจในการจะปล่อยดาวเทียมด้วย ซึ่งตัวผมมีความฝันว่าถ้าทำได้อยากจะทำเกี่ยวกับบล็อกเชน (Blockchain) เก็บรวบรวมข้อมูลการเงิน อาทิ บิทคอย เป็นต้น”

นายชวัลวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การเรียนในโครงการนี้จะแตกต่างจากการเรียนโปรแกรมทั่วไป มีความเข้มข้นมากกว่า โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ตามแผนใน 1 สัปดาห์จะเรียนประมาณ 40 คาบ ก็ค่อนข้างหนักและต้องปรับตัวพอสมควร แต่ก็ไม่กังวลพยายามจัดแบ่งเวลาทั้งการเรียนและทำกิจกรรมควบคู่กันให้ดีที่สุด และอนาคตก็ตั้งใจว่าอยากจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษาทางด้านวิศวคอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมการบินและอวกาศ

เด็กรร.กรุงเทพคริสเตียน สร้างดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน

..ธัญพิสิษฐ์ สว่างเนตร

เช่นเดียวกับ ..ธัญพิสิษฐ์ สว่างเนตร ชั้นม.4 กล่าวว่า มีความชอบและสนใจเรื่องเทคโนโลยีจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ แม้จะต้องเรียนหนักขึ้นก็ไม่ได้รู้สึกกังวลก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะคือสิ่งที่เราเลือก โดยในช่วงปิดเทอมประมาณ 2 เดือนมานี้พวกตนและเพื่อนทั้ง 27 คนก็ได้มาเรียนปรับพื้นฐานก่อน โดยมีอาจารย์จาก มจพ.มาสอนความรู้การเขียนโปรแกรม การออกแบบ เรียนรู้ภาวะอวกาศ การทดลองทำดาวเทียมกระป๋อง ซึ่งการเรียนนี้จะคล้ายกับที่พี่ๆในมหาวิทยาลัยเรียน และต่อไปในบางวิชาก็อาจจะมีโอกาสเข้าไปเรียนพร้อมๆกับพี่ๆที่มหาวิทยาลัยด้วย ทั้งนี้ ในท้ายที่สุดพวกเราทุกคนจะต้องร่วมกับสร้างภารกิจ 2 เรื่องก่อนส่งดาวเทียมขึ้นไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนด ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าถ้าเราสามารถพัฒนาสร้างดาวเทียมและส่งขึ้นไปในอวกาศได้เป็นผลสำเร็จนั้น มันจะกลายเป็น ดาวเทียมดวงแรกที่เกิดจากความสามารถของเด็กมัธยม