'สามารถ' ตั้ง4ข้อสังเกต ไม่สอบสวนหา 'ไอ้โม่ง' ประมูลรถเมล์เอ็นจีวี

'สามารถ' ตั้ง4ข้อสังเกต ไม่สอบสวนหา 'ไอ้โม่ง' ประมูลรถเมล์เอ็นจีวี

"สามารถ" ตั้ง 4 ข้อสังเกต "รมว.คมนาคม" ไม่ยอมสอบสวนหา "ไอ้โม่ง" ประมูลรถเมล์เอ็นจีวี

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกต 4 ประการ ในการไม่ยอมตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวคนที่แฝงตัวทำงาน หรือ “ไอ้โม่ง” ในการประมูลรถเมล์เอ็นจีวีครั้งที่ 8 

โดยระบุว่าจากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 4 ในโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน

พร้อมทั้งบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินประมาณ 1,160 ล้านบาท เนื่องจากถูก ขสมก.บอกเลิกสัญญา และมีคำสั่งให้ ขสมก.ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ที่มีมติให้ ขสมก.ทำสัญญากับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 8 ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 และ วันที่ 20 ธันวาคม 2560

 

เนื่องจากศาลได้ไต่สวนแล้วพบว่าไม่มีมติดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ดังนั้น การทำสัญญาระหว่าง ขสมก.กับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ศาลได้สั่งห้ามมิให้ ขสมก.นำมติดังกล่าวไปดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันกับ ขสมก.เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

จากนั้นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงคมนาคมได้ให้สัมภาษณ์ว่า “...จะเดินหน้าตามสัญญา พร้อมทยอยรับมอบรถจนครบ 489 คัน ตามสัญญาที่ระบุไว้ อย่างไรก็ตาม  ยืนยันและเชื่อมั่นในกระบวนการของ ขสมก.ที่ดำเนินการไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ รวมถึงการยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก” (ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 12 เมษายน 2561) นับว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ที่สวนทางกับคำสั่งศาลอย่างชัดเจน เนื่องจากศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ ขสมก.ดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันกับ ขสมก.เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การรับรถเพิ่มเติมจึงไม่สามารถกระทำได้

 

จากการให้สัมภาษณ์ของ รมว.คมนาคมดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประมูลครั้งที่ 8 ด้วย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561ให้ไต่สวนและกำหนดบทลงโทษ รมว.คมนาคมที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งอีกไม่นาน คงได้รู้ว่าศาลจะมีคำสั่งว่าอย่างไร         

 

ต่อมา รมว.คมนาคมได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “รถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรกจำนวน 100 คันนั้น ขสมก.ชี้แจงว่าเป็นรถที่มีการตรวจรับและจ่ายเงินไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง ขณะนี้ได้มีการนำออกให้บริการประชาชนแล้ว ส่วนล็อตที่ 2 อีก 100 คันนั้น จะต้องชะลอการรับมอบไปก่อนตามคำสั่งศาล ยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้นมีหน้าที่กำกับและให้นโยบาย ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะไปล้วงลูกการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน หรือสั่งการให้หยุดวิ่งแต่อย่างใด เพราะเป็นหน้าที่ของ ขสมก.ที่จะพิจารณา” (ผู้จัดการออนไลน์ 19 เมษายน 2561)

 

จริงหรือไม่ที่ รมว.คมนาคมบอกว่า ขสมก.รับรถล็อตแรก 100 คัน และจ่ายเงินไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง และจริงหรือไม่ที่ รมว.คมนาคมไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะไปล้วงลูก ถ้าการล้วงลูกนั้นเป็นการสั่งการให้ ขสมก.ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสและเป็นธรรม ตอบว่าไม่จริง ด้วยเหตุผลดังนี้

 

สำหรับประเด็นแรก ยืนยันได้ว่า ขสมก.ยังไม่ได้รับรถล็อตแรก 100 คัน และยังไม่ได้จ่ายเงินก่อนที่ศาลจะมีคำสั่ง กล่าวคือ คำพิพากษาของศาลระบุไว้ชัดว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (หมายถึง ขสมก. และบอร์ด ขสมก.) กล่าวอ้างว่า คู่สัญญา (หมายถึง ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์) ส่งมอบและได้รับรถยนต์ปรับอากาศตามสัญญาไว้แล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 จำนวน 100 คัน เห็นว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐาน ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถจัดส่งหลักฐานต่อศาลได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการตรวจรับรถยนต์หรือบันทึกรายงานผลการตรวจรับพัสดุ”

 

นั่นหมายความว่า ขสมก.ไม่สามารถส่งหลักฐานการรับรถให้ศาลได้ เมื่อไม่มีการรับรถเกิดขึ้น แล้ว ขสมก.จะจ่ายเงินให้ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ได้อย่างไร จนถึงบัดนี้ (ณ วันที่ 21 เมษายน 2561) ก็ยังไม่มีการจ่ายเงิน

 

ส่วนประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ รมว.คมนาคมนั้น คำพิพากษาของศาลเขียนไว้ว่า “แม้กลไกของกฎหมายจะบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมดูแลกิจการของ ขสมก. และมีอำนาจที่จะเรียกให้ผู้อำนวยการ ขสมก. และประธานหรือกรรมการของบอร์ด ขสมก. ชี้แจงข้อเท็จจริง รายงาน สั่งให้กระทำหรือยับยั้งการกระทำใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรี

 

ตลอดจนมีอำนาจสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ ขสมก. ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ได้ แต่ไม่มีการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงของฝ่ายปกครองเพื่อสั่งการให้กระทำหรือยับยั้งการกระทำเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อ ขสมก. และงบประมาณของรัฐแต่อย่างใด”

 

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า รมว.คมนาคมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งการให้ ขสมก.ดำเนินงานให้ถูกต้องเพื่อไม่เกิดความเสียหายต่อ ขสมก. และงบประมาณแผ่นดิน การที่ศาลมีคำสั่งให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินเป็นเงินประมาณ 1,160 ล้านบาทนั้น ถือเป็นความเสียหายต่อ ขสมก. และงบประมาณแผ่นดิน

ที่สำคัญ การไม่ยอมตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวคนที่แฝงตัวทำงาน หรือ “ไอ้โม่ง” ในการประมูลครั้งที่ 8 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นการประมูลที่ไม่ชอบมาพากลตามที่ผมได้ตั้งข้อเกตไว้แล้ว 4 ประการ ในบทความของผมเรื่อง “เบื้องลึกประมูลรถเมล์เอ็นจีวีที่คนไทยต้องรู้” ซึ่งผมได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 และสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวนี้อย่างแพร่หลายแล้วนั้น ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายหรือไม่ และหากปล่อยไว้แล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น รมว.คมนาคมจะไม่ต้องรับผิดชอบได้หรือไม่

 

อำนาจหน้าที่ของ รมว.คมนาคมดังกล่าวข้างต้นได้ถูกบัญญัติไว้ชัดเจนยิ่งกว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ในการระงับยับยั้งความเสียหายเกี่ยวกับการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถูกดำเนินคดีและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก ดังนั้น หาก รมว.คมนาคมไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อ ขสมก. และงบประมาณแผ่นดินก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

 

ข้อสังเกตของผมทั้ง 4 ประการนั้น ใครได้อ่านก็รู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในการประมูลครั้งที่ 8 แล้วเหตุใด รมว.คมนาคมจึงไม่ยอมตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ที่มี?