ไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อป หนุนเอสเอ็มอีเพิ่มรายได้

ไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อป หนุนเอสเอ็มอีเพิ่มรายได้

ปัจจุบันคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคน 18 ลิตรต่อคนต่อปีต่ำกว่าอัตรเฉลี่ยของโลกที่สูงถึง 100 ลิตร สูงสุดคือแถบสหภาพยุโรปหรืออียู ประมาณ 300 ลิตร

ในเอเชียมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น 75 ลิตร ดังนั้นกระทวงเกษตรและสหกรณ์จึงตั้งเป้าคนไทยดื่มนมมากขึ้น เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี แต่การส่งเสริมของรัฐบาลภายใต้โครงการนมโรงเรียนสำหรับเด็กอายุ 3-12 ปีเท่านั้น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)จึงผุด โครงการไทย-เดนมาร์คมิลค์ซ็อป ต่อยอดขายนมและผลิตภัณฑ์ในโรงเรียน ขึ้น เป็นอีกช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคอย่างตรงเป้าหมาย

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า โครงการนี้ อ.ส.ค. จะไม่เข้าไปจำหน่ายนมในโรงเรียนโดยตรง แต่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่สนใจรับนมจากอ.ส.ค. ไปจำหน่ายสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจและวิสาหกิจแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้ อ.ส.ค. เป็นนมแห่งชาติภายในปี 2564

ทั้งนี้ ร้านไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อป ได้เริ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้เปิดร้านไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อปต้นแบบที่โรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โดยทางร้านได้นำน้ำนมโคสดแท้ 100% จากโรงงานนม อ.ส.ค.เชียงใหม่ ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีความหลากหลายและเหมาะกับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย

เน้นสินค้าที่มีน้ำนมเป็นส่วนประกอบ เช่น นมร้อน นมเย็น นมปั่น ชานมสด ช็อคโกแลตร้อนนมสด น้ำนมสดผสมผลไม้ต่างๆ เค้กนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค เช่น นมยู.เอช.ที. นมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม โยเกิร์ต และไอศกรีมไปจำหน่ายภายในร้าน ด้วย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเด็กนักเรียน คณะครู รวมถึงผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่แวะมาใช้บริการ

“ร้านไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อปแห่งแรกได้รับการตอบรับดี โดยเฉพาะช่วงพักเที่ยง ช่วงพักระหว่างเปลี่ยนคาบเรียน และหลังเลิกเรียน มีนักเรียนมาเข้าคิวรอซื้อนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นจำนวนมาก ถือว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนและมียอดขายสูง”

ทั้งนี้ อ.ส.ค.ได้ขยายผลโครงการร้านไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อปในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก และโรงเรียนสารสาสน์วิเทศ บางบอน กรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยภาพรวมถือว่าได้รับการตอบรับดี

“โครงการร้านไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อปในโรงเรียน เพิ่งเริ่มต้น จึงต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมการขยายผลมากขึ้น มีการปรับปรุงจุดด้อย ข้อจำกัดรวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อจัดทำคู่มือการบริหารจัดการโครงการร้านต่อไปซึ่งในปีนี้ มีแผนดึงผู้ประกอบการSMEsใหม่ เข้าร่วมอย่างน้อย 5 ร้าน เพื่อจำหน่ายในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น”

โดยหลักเกณฑ์การตั้งร้านไทย-เดนมาร์คมิลค์ช็อป ต้องอยู่ใกล้สถานที่ตั้งโรงงานแปรรูปนมของ อ.ส.ค.ทั้ง 5 แห่ง คือ มวกเหล็ก ขอนแก่น สุโขทัย เชียงใหม่ และปราณบุรี โดยรัศมีไม่เกิน 150 กิโลเมตร เพื่อความรวดเร็วในการขนส่งน้ำนมดิบจากโรงงานแปรรูปไปยังร้าน และช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำนมดิบให้กับผู้ประกอบการด้วย

นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำรถจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คเคลื่อนที่ หรือ ไทย-เดนมาร์ค มิลค์ทรัค นำร่องล็อตแรก จำนวน 5 คัน เพื่อขยายช่องทางจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ SMEs สามารถเคลื่อนย้ายไปจำหน่ายยังจุดต่างๆ ได้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งจะทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่และขยายการรับรู้แบรนด์สินค้าไทย-เดนมาร์คเพิ่มมากขึ้น ทำให้ อ.ส.ค.เติบโตอย่างมีศักยภาพในระยะยาว

ทั้งนี้ ตามแผนการเป็นนมแห่งชาติ ปี 64 อ.ส.ค. ต้องมีรายได้ 11,000ล้านบาท จากปี60 ที่มีรายได้ 9,000ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย7%ต่อปี ซึ่งอ.ส.ค.ผลักดันการส่งออกตลาดเพื่อนบ้านมากขึ้นใน ลาว กัมพูชา และพม่า ปีละ 700ล้านบาท