ผู้ป่วย"วัณโรค"ไทยหลุดระบบรักษาเกือบ4.5หมื่นราย

ผู้ป่วย"วัณโรค"ไทยหลุดระบบรักษาเกือบ4.5หมื่นราย

ฮูคาดผู้ป่วยวัณโรคไทย หลุดจากระบบรักษาเกือบ 45,000 คน สธ.กำชับศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคทุกจังหวัด เข้มมาตรการลดวัณโรค

      19 เม.ย. 2561 ที่โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า อ.เมือง จ.กระบี่ นพ.โอภาส  การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเสริมศักยภาพการบริหารจัดการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของสธ.   โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  ผู้บริหาร  และผู้ปฏิบัติงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุมว่า องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคใหม่ปีละประมาณ 120,000 ราย แต่จากการรายงานปี 2560 พบผู้ป่วยวัณโรคเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา 75,004 ราย ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบอีกเกือบ 45,000 ราย 
      "แม้จะสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาแต่ยังคงต้องเร่งรัดค้นหาต่อไป โดยเฉพาะในประชากรเสี่ยง อีกทั้งผลการรักษาที่ผ่านมามีอัตราการกินยาครบและหายเพียงร้อยละ 80 ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ได้ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จาก 172   ต่อแสนประชากรในปี 2558     เหลือ 10 ต่อแสนประชากรในปี 2578"นพ.โอภาสกล่าว   
       นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคที่จัดตั้งขึ้นในทุกจังหวัด ดำเนินการใน 2 มาตรการควบคู่กันคือ เร่งรัดค้นหา โดยเฉพาะการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง โดยในปีที่ผ่านมา คัดกรองในผู้ต้องขังเรือนจำทุกราย พบผู้ป่วยถึง 3,905 ราย เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 72 และในปี 2561 นี้จะได้ดำเนินการค้นหาเชิงรุกในผู้ต้องขังทุกราย โดยคัดกรองด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก รวมทั้งร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครผู้ต้องขัง ให้มีส่วนร่วมค้นหาผู้มีอาการสงสัยวัณโรค เพื่อส่งต่อเจ้าหน้าที่พยาบาล และดูแลวินิจฉัยต่อไป และการกำกับดูแลรักษา สร้างเครือข่ายการส่งต่อติดตามผลการรักษาครบถ้วนทุกราย เชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน จนถึงระดับครัวเรือนผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงการนำผู้สัมผัสร่วมบ้านมารับการตรวจวินิจฉัย เพื่อรักษาโดยเร็วกรณีป่วยเป็นวัณโรค

        ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 90 โดยค้นหาในคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกเอดส์ เบาหวาน บุหรี่ ไต และการคัดกรองเชิงรุกใน 3 กลุ่มเสี่ยง  ได้แก่ กลุ่มผู้สัมผัสวัณโรค  เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มที่มีโรคร่วมเช่น เอชไอวีเบาหวาน ไตเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ฝุ่นใยหิน ขาดสารอาหาร ผู้ใช้ยาสูบและสารเสพติด และกลุ่มประชากรเสี่ยง เช่นผู้ต้องขัง  ผู้สูงอายุ บุคลากรสาธารณสุข แรงงานต่างชาติ คนเร่รอน ผู้พิการ ผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานเครือข่ายห้องปฏิบัติการฯ  และศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ. ให้สามารถค้นหาผู้ที่มีอาการสงสัยวัณโรคในชุมชน/เรือนจําได้ ถ้าพบผู้มีอาการไอเรื้อรังเกินกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป หากมีปัญหาสงสัยสามารถปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขสายด่วน 1422