ราคาน้ำมันดิบทะยาน2.9%

ราคาน้ำมันดิบทะยาน2.9%

ทะลุ 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ขานรับสต็อกน้ำมันวูบ

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส  ทะยานขึ้น 1.95 ดอลลาร์ หรือ 2.9% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2557 หลังการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐดิ่งลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ความวิตกเกี่ยวกับภาวะชะงักงันในการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ดันราคาน้ำมันในวันนี้

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์ ปิดตลาดวันพุธ (18เม.ย.)ตามเวลาท้องถิ่น เพิ่มขึ้น 1.95 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดตลาดที่ 68.47 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 1.90 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ราคา 73.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (เอพีไอ) ระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบลดลง 1 ล้านบาร์เรล

อีไอเอ ยังเปิดเผยด้วยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินดิ่งลง 3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ร่วงลง 3.1 ล้านบาร์เรล 

อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการที่สหรัฐและพันธมิตรโจมตีซีเรียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงจับตากลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงริยาดของซาอุดิอาระเบียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อตอบโต้ซาอุดิอาระเบียที่ได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ

สงครามกลางเมืองในเยเมนเปรียบเสมือนการทำสงครามตัวแทนระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน โดยซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีอับดราบูห์ มันซูร์ ฮาดี แต่อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏฮูตีที่มีความจงรักภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ โดยกลุ่มกบฏฮูตีครอบครองดินแดนทางตอนเหนือของประเทศ

นอกจากนี้ การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่ที่จะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ก็ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า สหรัฐอาจคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ขณะใกล้เส้นตายในวันที่ 12 พ.ค. ซึ่งจะส่งผลให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันในตลาดโลก

ส่วนการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลา ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มได้เห็นพ้องกันในการปรับลดกำลังการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้วจนถึงปลายปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันล้นตลาด และมีกำหนดประชุมกันในเดือนมิ.ย. เพื่อทบทวนแผนการปรับลดกำลังการผลิต

เจ้าหน้าที่ซาอุดิอาระเบียตั้งเป้าหมายราคาน้ำมันที่ระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนให้โอเปกยังคงปรับลดกำลังการผลิตต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าดังกล่าว