'คลัง' ยันก.ม.จัดซื้อไม่กระทบลงทุนรัฐ

'คลัง' ยันก.ม.จัดซื้อไม่กระทบลงทุนรัฐ

"คลัง" ยันกฎหมายจัดซื้อไม่เป็นอุปสรรคการลงทุนภาครัฐ สะท้อนผ่านยอดลงนามงบผูกพันสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก สะท้อนกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างเอื้อให้เอกชนเข้าประมูลงานภาครัฐ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารโลกออกมาระบุว่า กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของรัฐบาล โดยกล่าวว่า แม้ว่า ขณะนี้ ยอดการเบิกจ่ายงบลงทุนยังต่ำกว่าเป้าหมาย แต่การทำสัญญางบผูกพันการลงทุนภาครัฐสามารถทำได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก แสดงให้เห็นว่า กฎหมายการจัดซื้อจ้างฉบับใหม่ ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐกับเอกชน

“มีคนโทษว่า การจัดซื้อยาก แต่เชื่อไหมว่า ขณะนี้เบิกจ่ายน้อย แต่เมื่อดูไส้ในกลับพบว่า วงเงินงบผูกพันมากกว่าปีก่อนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ โดยสามารถทำไปได้แล้วกว่า 55% ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มาจากปัญหากฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างเลย ถ้ามีปัญหา ก็ผูกพันไม่ได้ ส่วนการเบิกจ่าย อยู่ที่หน่วยงานว่า มีประสิทธิภาพแค่ไหน อย่ามาโยนว่า เป็นปัญหากฎหมายจัดซื้อ”

เขากล่าวด้วยว่า กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่นั้น ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนที่เป็นปัญหา ก็มีคณะกรรมการมาช่วยแก้ไข ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะการดำเนินงานในเชิงธุรกิจ ทางกระทรวงการคลังก็อนุญาตให้ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายของตัวเองที่อิงระเบียบการเบิกจ่ายกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ได้

“กฎหมายจัดซื้อที่ทำขึ้นมาใหม่นั้น ก็เพื่อป้องกันการทุจริต และ แนวทางที่ทำนั้น เราก็เอามาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อนำมาใช้ ก็มีอุปสรรคบ้าง ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัย ก็แก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่ ที่ผ่านมา ก็แก้ไปได้เยอะแล้ว โดยรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแบบคอมเมอร์เชียล เราก็ให้เขาใช้ระเบียบจัดซื้อของตัวเอง โดยไม่ขัดต่อหลักการของกฎหมายจัดซื้อฉบับใหม่”

สำหรับเรื่องราคากลางนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องราคากลางอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อให้ราคากลางสอดคล้องกับราคาตลาดมากที่สุด โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ในอดีตที่ผ่านมา ราคากลางเป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้เกิดปัญหาการรั่วไหลของการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น ราคากลางที่จะพิจารณาขึ้นมาใหม่จะต้องสอดคล้องกับราคาตลาดให้มากที่สุด

“ต้องยอมรับว่า ในอดีตราคากลางของเราเป็นช่องทางให้รั่วไหล มีเงินทอนได้ ก็แสดงว่า ราคากลางมั่ว ถ้าทำแล้วขาดทุนก็ไม่มีทอน เราก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดราคากลาง เอาเอกชนที่เป็นกลางเข้ามาช่วยกำหนดด้วย ผมคิดว่า ถ้าทำสำเร็จ ความรั่วไหลจะน้อย แต่คนที่มั่วๆอยู่ก็ยังร้อง”

ทั้งนี้ ในช่วงสามปีของการใช้วิธีการประมูลงานภาครัฐผ่าน e-bidding นั้น ทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณรายจ่าย ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท รวมในช่วงสามปีที่ผ่านมา สามารถประหยัดงบประมาณได้ 9 หมื่นล้านบาท

“การประหยัดงบประมาณได้ดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากการที่เอกชน เสนอราคาประมูล ต่ำกว่าราคากลางที่ภาครัฐตั้งขึ้นราว 17 -18% ดังนั้นหาก ราคาที่เสนอในการประมูลงานภาครัฐ มีการเสนอต่ำกว่าราคากลางติดต่อกันหลายครั้ง กรมบัญชีกลางในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลและกำหนดราคากลางในการประมูลงานภาครัฐอาจ จะต้องพิจารณาทบทวนเพื่อปรับราคากลางให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง”