หนทางเผชิญหน้ากับความตายของฟอลคอน

หนทางเผชิญหน้ากับความตายของฟอลคอน

ลองอ่านบทวิเคราะห์ความตายของฟอลคอนในมิติที่ลึกซึ้งจากนักเขียนคนนี้

""""""""""""""""""

หลายเดือนก่อน ขณะนอนกอดน้องต้นไทร หลานชายวัย ๕ ขวบอยู่เงียบๆในยามรุ่งสาง ดิฉันคุยกับหลานไปเรื่อยๆ และบอกต้นไทรว่า ป้าเอียดไม่อยากให้หนูโตขึ้นกว่านี้เลย อยากให้ตัวเท่านี้ไปตลอด...พูดแค่นี้หลานยิ้มหวานให้ บอกป้าแก่ๆของตัวเองว่า “ไม่ได้หรอกป้าเอียด ยังไงต้นไทรก็ต้องตัวโต ต้องแก่ เพราะมันเป็นธรรมชาติ!”

ฟังต้นไทรพูดแล้ว ดิฉันก็ถามต่อว่า แล้วธรรมชาติคืออะไรล่ะลูก ต้นไทรนิ่งคิด ก่อนจะบอกป้าอย่างมั่นใจว่า “อ๋อ... ธรรมชาติก็คือชีวิตปกติ ที่มันต้องเป็น”

แล้ว “ความจริง” คืออะไรล่ะคะ คราวนี้ดิฉันลุกขึ้นนั่ง ตั้งใจถามหลานอย่างจริงจัง อยากฟังคำตอบจากหลาน อยากรู้ว่า เด็ก 5 ขวบ จะคิดกับเรื่องนี้อย่างไร

น้องต้นไทรยิ้มกริ่มไปไขลานนาฬิกาพกไป ขณะบอกดิฉันว่า “ความจริงคือสิ่งที่คนไม่ต้องกลัว”

มีหลายครั้งที่ดิฉันอยากได้รับคำตอบชัดๆ ตรงๆ แจ่มแจ้ง ถามหลานนี้แหละ ทะลุปรุโปร่งทุกอย่าง ปัญญาและดวงตาของเด็ก ยังบริสุทธิ์ ตรง ชัด ไม่ซับซ้อน เหมือนกับอีกครั้งหนึ่ง เล่นหมุนนาฬิกาพกกันอยู่ ดิฉันก็ได้ถามน้องต้นไทรว่า “ต้นไทร ป้าเอียดแก่มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะ ความแก่มันคืออะไรล่ะลูก”

น้องต้นไทรนิ่งคิดชั่วครู่ แล้วตอบป้าช่างซักของตัวเองว่า “ความแก่คือความตายที่ใกล้เข้ามา”

“เอ้าแล้วความรักคืออะไร”

“ความรักคือ สิ่งที่ทำให้คนยิ้ม”

“ความทุกข์ล่ะลูก ทุกข์คืออะไร”

“ความทุกข์คือสิ่งที่ทำให้คนโศกเศร้า”

  มีหลากหลายสิ่งที่ดิฉันยังตรองไม่ตกในเรื่องที่มาของคำตอบที่น้องต้นไทรมอบให้กับดิฉัน ปัญญาเช่นนี้มาจากดวงจิตบริสุทธิ์ของเด็ก หรือมาจากความทรงจำเก่าแก่ดั้งเดิม ที่ส่งทอดมาตลอดหลายชาติภพของการเกิดขึ้นในโลกใบนี้

น้องต้นไทรพูดถึงความแก่ ว่าคือ ความตายที่ใกล้เข้ามา หรือว่าไปก็คือความหมายเดียวกับ “ไม้ใกล้ฝั่ง” เฉียดตลิ่งที่จะถูกสายน้ำกัดเซาะผืนดินสายรากให้หมดแรงโยงยึด จนโค่นถล่มล้มครืนคาชายน้ำ และไม่ว่าจะเปื่อยยุ่ยไปกับชายฝั่งหรือถูกพัดพาลับหายไปกับสายน้ำ ทั้งหมดนั้นก็คือวิถีของการเสื่อมสลายเช่นเดียวกัน ได้ตายยามแก่ คงเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วโลก จึงหาหนทางพัฒนาความรู้นานาสารพัด จนทำให้ชาติเจริญ แล้วกลายเป็นสังคมคนแก่โดยถ้วนทั่ว และอีกไม่นานนี้เมืองไทยก็กำลังจะกลายเป็นสังคมคนแก่ สิ่งนี้มารออยู่ข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แต่โลกของเมืองไทยในอดีตผู้คนบนแผ่นดินสยาม ไม่ได้อยู่จนแก่เฒ่ากันสักเท่าใดดอก ความตายมาเยือนด้วยโรคระบาด การป่วยไข้ การปล้นฆ่า การเผชิญหน้ากับสงครามทั้งระหว่างรัฐ และในรัฐตัวเอง คนตายกันหนักๆ ในวัยไม่แก่เป็นเรื่องปกติมาก

แต่ที่ตายอย่าง “ไม่ปกติ” และมีบันทึกถึงความตายของบุคคลผู้หนึ่งไว้อย่างหลากหลายวิถี-วิธี มากที่สุด ที่ดิฉันเคยอ่านพบมาในพงศาวดาร และจดหมายเหตุต่างๆ ของชาวต่างชาติ ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวของออกญาวิชาเยนทร์-คอนสแตนติน ฟอลคอน ข้าราชการชั้นสูงในแผ่นดินพระนารายณ์ที่มีชื่อเสียงดังเปรี้ยงขึ้นมาในสังคมไทยยุคนี้จากละครทีวี บุพเพสันนิวาส

ดิฉันเคยเขียนถึงจุดจบของฟอลคอนจากจดหมายเหตุฝรั่งไปหลากหลายประเด็นแล้ว ทั้งถูกแม่มะลิขากเสมหะถ่มน้ำลายรดหน้าเมื่อไปร่ำลา ถูกจับทรมานขณะมีหัวพระปีย์ห้อยไว้เหมือนกระพรวนห้อยคอแมวหมา 

แต่นั่นก็เป็นบางเรื่องในเอกสารยุคนั้น หากยังมีจดหมายเหตุฝรั่งบันทึกไว้อีกหลากหลายวิธีเกี่ยวกับความตายของฟอลคอน ดังที่ดิฉันเคยอ่านพบเรื่องราวที่เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ หมอชาวเยอรมันที่เข้ามาในสยามต้นแผ่นดินพระเพทราชา เขาเขียนบันทึกถึงเรื่องราวที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน และได้รับฟังเกี่ยวกับความตายของฟอลคอนว่า

  “พระเพทราชาก็สั่งการโดยพลอำนาจของตน ให้ตัดศีรษะหม่อมปีย์โยน ณ แทบเท้าของฟอลคอนซึ่งจำตรวนอยู่ ทั้งกล่าวคำเสียดสีเย้ยหยันว่า นั่นแน่ะพระเจ้าอยู่หัวของเจ้า...”

  ส่วนตัวฟอลคอนเองนั้น หมอแคมเฟอร์ระบุว่า ถูกจับทรมานและอดอาหารอยู่ถึง 14 วัน “จนเกือบจะเหลือแต่โครงอยู่แล้ว” และเมื่อถูกพาไปร่ำลาแม่มะลิให้โดนขากเสมหะถ่มน้ำลายรดหน้าเรียบร้อย ฟอลคอนก็ “ถูกนำตัวไปนอกเมือง และสู่แดนประหาร แม้เขาจะต่อต้านอย่างถึงที่สุด เขาถูกตัดศีรษะในที่สุด ร่างของเขาถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน และกลบด้วยดินเพียงเล็กน้อย ตกกลางคืนบรรดาสุนัขได้มาคุ้ยเขี่ยศพและกัดกินจนถึงกระดูก”

ยังมีจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสอีกชิ้นหนึ่งกล่าวถึงรายละเอียดการทรมานฟอลคอนอันน่าสังเวชยิ่ง ดังนี้

  “ได้จับฟอลคอนในเดือนพฤษภาคม 2231 จำขังไว้ที่สนมในพระมหาราชวัง ได้ถูกจำคุกขังอยู่ในตารางที่โสมมและถูกทรมานด้วยวิธีต่างๆอย่างร้ายแรงสาหัสอยู่ถึง 14 วัน เพื่อให้บอกที่ซ่อนทรัพย์สมบัติ บางวันก็ไม่ให้ข้าวและน้ำกิน และที่ฝ่าเท้านั้นได้ถูกเผาทั้งสองข้าง เพื่อกันไม่ให้หนี ถูกบีบขมับ ถูกเฆี่ยนจนหลังแตก ภายหลังได้ค้นทรัพย์สมบัติที่ฟอลคอนซ่อนไว้ได้มากแล้ว จึงได้สั่งให้นำตัวไปประหาร ในวันที่ 5 มิถุนายน 2231 เวลาพลบค่ำ เจ้าหน้าที่ได้ตัวฟอลคอนขึ้นช้างไปสู่ป่านอกเมือง ฟอลคอนสวดมนต์ขอพรพระผู้เป็นเจ้าด้วยเสียงอันดัง”

สำหรับฟอลคอนจะเผชิญหน้ากับความตายเช่นใดนั้น ข้อมูลในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 27 เรื่องไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกัน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แปลจากภาษาฝรั่งเศส ของมองซิเออร์ ลันเย กล่าวไว้ว่า

“ในเวลาที่ฟอลคอนจะตายนั้น ก็ได้ตายโดยกิริยากล้าหาญองอาจ  ซึ่งเป็นข้อลบล้างการผิดและความหยิ่งในชั้นหลังได้ เพราะการที่ได้เป็นมาถึงเพียงนี้จะโทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวของตัวเอง เพราะได้คิดมักใหญ่ใฝ่สูงเกินไปและคิดการทุจริตต่าง ๆ จึงได้มีคนคิดพยาบาทมาดร้ายจนที่สุดต้องเสียชีวิตของตัวเอง เพราะฉนั้นเมื่อจะตายก็ยังมีน้ำใจฝักฝ่ายอยู่กับฝรั่งเศสมิได้เว้นเลย พระเพทราชาได้สั่งให้เอาตัวฟอลคอนไปยังป่าแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองลพบุรี และเมื่อได้ทรมานเสียทุกอย่างแล้ว จึงได้ให้เพชรฆาฏฆ่าเสีย โดยหาว่าเป็นขบถคิดประทุษร้ายต่อเจ้าแผ่นดินของตัว เมื่อจะตายนั้นฟอลคอนมิได้สะทกสะท้านอย่างใดเลย และเมื่อจะขาดใจหน้าตาก็ยังแช่มชื่นปรกติอยู่”

ฟอลคอนจบชีวิตไปในวัยประมาณ 40 ปี เป็นคนอายุมาก ขนาดเป็นปู่คนได้โลกโบราณ แต่โลกปัจจุบันอายุ 40 ปียังถือว่าน้อยมากและยังอยู่ในวัยทำงาน ความตายของคนผู้นี้ยังถูกบันทึกถึงการโดนจับทรมานไว้อีกหลากหลายลักษณะ และเมื่อเผชิญความตาย ก็ยังมีจดหมายเหตุบอกไว้ว่าเขาไม่ได้สะทกสะท้านแต่อย่างใด ไม่ว่าจะไม่สะทกสท้านเพราะสวดมนต์เสียงดังด้วยศรัทธาในพระเจ้า หรือเพราะความตายจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยปลดปล่อยออกจากความทุกข์ทรมานทางกายอย่างสาหัสที่ต่อเนื่องมา 10 กว่าวัน และทุกข์ทรมานทางใจอย่างยิ่งกับการถูกถ่มน้ำลายรดหน้า จากแรงเกลียดชังของคนรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่บุคคลที่เป็นที่สุดรักสุดเสน่หาอย่างท้าวทองกีบม้า-เมียรักที่นอนใกล้ชิดเคียงข้างอยู่ทุกคืน มาตลอดหลายๆปี

วิถีเผชิญความตายของฟอลคอน ในเอกสารต่างๆ ที่ดิฉันได้ค้นหามาอ่านนี้ และคำตอบของน้องต้นไทรหลานรัก ที่บอกว่า ความแก่คือความตายที่ใกล้เข้ามา และการที่ต้องทรมานกับสังขารตนเองในยามเผชิญกับโรคภัยของคนแก่ที่มาเยือนเป็นระลอก จนเริ่มเบื่อหน่ายสังขารอย่างสุดๆ อันชวนให้คิดถึงเรื่องความตาย เตือนอกเตือนใจตัวเองอยู่ทุกวัน ชนิดมี “มีความตายเป็นที่พึ่ง” เพื่อจะได้ทำใจให้ปล่อยมือกับทุกสิ่ง ด้วยเหตุผลที่อ.เขมานันทะเคยพูดยิ้มๆกับดิฉันไว้ว่า 

  “สวรรค์ไม่ต้องดิ้นรนไปให้ถึง มันถล่มทลายลงมาเอง ดิ้นจะไปสวรรค์ ตกนรกเปล่า”

และเมื่อเรียนรู้ถึงความตายในมิติต่างๆ ทั้งจากหลากหลายเหตุการณ์ หลากหลายผู้คน ล้วนทำให้ดิฉันซาบซึ้งยิ่งนักกับสิ่งที่ อ.โกวิท เขมานันทะ บอกดิฉันไว้ว่า

"วาระของความตายเป็นวาระของสง่าราศี ไม่ใช่ความอับเฉา"