'สามารถ' ชงรมว.คมนาคม ตั้งคกก.สอบปมรถเมล์เอ็นจีวี

'สามารถ' ชงรมว.คมนาคม ตั้งคกก.สอบปมรถเมล์เอ็นจีวี

"สามารถ" ชงรมว.คมนาคม กระชากหน้ากาก "ไอ้โม่ง" อยู่เบื้อหลัง ทำ ขสมก.เสียค่าโง่ 1.1 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2561 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ "เบื้องลึกประมูลรถเมล์เอ็นจีวี" ที่คนไทยต้องรู้ ภายหลัง โพสต์บทความเรื่อง “ทางออกรถเมล์เอ็นจีวี ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1.1 พันล้าน!”ไปเมื่อวานนี้ พร้อมเสนอทางออกให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รับรถเมล์เอ็นจีวี 292 คัน ของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหาย จำนวนประมาณ 1,160 ล้านบาท ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง เนื่องจากถูก ขสมก.บอกเลิกสัญญา

นายสามารถ ระบุว่า หลังจากนั้น ขสมก.ได้เปิดประมูลใหม่ แต่ล้มเหลวอีก 3 ครั้ง จนมาถึงครั้งที่ 8 ปรากฏว่า ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ชนะการประมูล โดยได้ส่งมอบรถให้ ขสมก.แล้ว 100 คัน ทั้งนี้ ขสมก.กำหนดราคากลางไว้ที่ 4,020 ล้านบาท แต่ราคาที่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอคือ 4,260 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลาง 240 ล้านบาท ต่อมามีบริษัทที่เสียผลประโยชน์จากการประมูลได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการ ขสมก.ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่มีมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ นั่นหมายความว่าไม่มีมติดังกล่าวเกิดขึ้น การทำสัญญาระหว่าง ขสมก.กับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการ ขสมก. เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากศาลได้ไต่สวนพบว่าในการประชุมคณะกรรมการ ขสมก.เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 9 คน จากทั้งหมด 10 คน ไม่มีการลงมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์และซ่อมบำรุงรักษากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์แต่อย่างใด อีกทั้ง ในการประชุมคณะกรรมการ ขสมก.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 6 คน ปรากฏว่ามีกรรมการเพียง 2 คนเท่านั้นที่รับรองบันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่มีมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ แต่มีกรรมการ 3 คน ไม่ยอมรับรองบันทึกการประชุม ส่วนกรรมการอีก 1 คน งดออกเสียง นอกจากนี้ ขสมก.ไม่สามารถแสดงหลักฐานการตรวจรับรถจาก ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ จำนวน 100 คัน ที่วิ่งให้บริการอยู่ในเวลานี้ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่ากรรมการตรวจรับรถบางคนไม่ยอมลงนามในเอกสารการรับรถ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์รองรับนั่นเอง

นายสามารถ ตั้งข้อสังเกตุว่า อะไรทำให้การประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีต้องล่าช้ามาจนถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง 13 ปี ทำไมจึงมีความพยายามเขี่ยเบสท์รินให้ตกไป ทั้งๆ ที่ เบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 632 ล้านบาท และเบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่า ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ถึง 870 ล้านบาท ทำไมจึงมีความพยายามให้ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งๆ ที่เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท อะไรทำให้ ขสมก.ต้องการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่มีราคาแพงกว่า ประเด็นเหล่านี้น่าติดตามอย่างยิ่ง

น่าสนใจมากว่าใครเป็นคนที่แฝงตัวทำงานนี้ แต่จะเป็นใครก็ตามหาได้ไม่ยาก ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอยากจะหา เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ที่จะเรียกประธานกรรม กรรมการ ผู้อำนวยการ ขสมก. พนักงานหรือลูกจ้างมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวและมีการร้องเรียนว่าการประมูลครั้งที่ 8 เป็นการประมูลที่ไม่โปร่งใส แต่ รมว.คมนาคมได้ใช้อำนาจนี้แล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้ใช้ ถามว่าทำไมจึงปล่อยให้เป็นข้อกังขาของสาธารณชน

ทั้งนี้ นายสามารถ ยังเรียกร้องให้ รมว.คมนาคม ตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง 1.การเชิญชวนให้บริษัทเข้าร่วมประมูลโดยกำหนดให้ยื่นเอกสารภายในระยะเวลาสั้นๆ หากบริษัทใดไม่รู้ข้อมูลล่วงหน้ามาก่อนก็ไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทัน กล่าวคือ ขสมก.ได้มีหนังสือเชิญชวนบริษัทรอบแรก 7 บริษัท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมากทั้งเอกสารด้านคุณสมบัติของบริษัท เอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาเพียง 10 วันทำการเท่านั้น อนึ่ง ในการเชิญรอบแรกนั้นปรากฏว่ามี ช.ทวีรวมอยู่ด้วย

2. เหตุใด ขสมก.จึงเชิญชวนบริษัทเพิ่มเติมรอบที่ 2 อีกจำนวน 4 บริษัท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เหมือนเดิม ทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมากเพียง 3 วันทำการเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถเตรียมเอกสารจำนวนมากได้ทันแน่หากไม่จับมือร่วมทำงานกับบริษัทที่ได้รับเชิญรอบแรก อนึ่ง ในการเชิญรอบที่ 2 นั้นปรากฏว่ามีสแกนอินเตอร์รวมอยู่ด้วย เมื่อดูระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พบว่าระเบียบนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการมีหนังสือเชิญชวนบริษัทไม่น้อยกว่า 3 รายเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใด ขสมก.จึงต้องมีหนังสือเชิญชวนบริษัทเพิ่มเติมรอบที่ 2 อีก 4 ราย ทั้งๆ ที่การเชิญชวนรอบแรกมีจำนวนบริษัท 7 ราย ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวแล้ว

3. อะไรทำให้ ช.ทวีซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเชิญในรอบแรกและเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการให้บริการรถโดยสารต้องยอมจับมือกับสแกนอินเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเชิญในรอบที่ 2 ตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงานยื่นข้อเสนอให้ ขสมก.คัดเลือก ที่น่าแปลกมากก็คือมี 2 บริษัทนี้เท่านั้นที่เสนอตัวเข้าร่วมประมูลจากจำนวนบริษัทที่ได้รับเชิญทั้งหมด 11 บริษัท แต่บริษัททั้งสองนี้ไม่ได้แข่งขันกันเพราะได้จับมือกันตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงาน เสมือนเป็นบริษัทเดียว หาก 2 บริษัทนี้ไม่จับมือกันตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงาน แต่แข่งขันกันก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ช.ทวีจะเป็นผู้ชนะ เพราะมีความพร้อมและประสบการณ์มากกว่า และที่สำคัญ เคยร่วมประมูลโครงการนี้มาก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสนใจมากว่าทำไม ช.ทวีจึงยอมให้สแกนอินเตอร์เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นการแบ่งกำไรให้สแกนอินเตอร์ จากการที่สแกนอินเตอร์สามารถเข้าร่วมกลุ่มกับ ช.ทวีได้จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ว่าเหตุใดจึงมีการเชิญสแกนอินเตอร์ในรอบที่ 2 ให้เข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนบริษัทอื่นที่ได้รับเชิญไม่เข้าร่วมประมูลด้วย ทราบมาว่าเป็นเพราะไม่สามารถเตรียมเอกสารจำนวนมากได้ทันเวลา

4. ทำไมกรรมการ ขสมก.บางคนจึงมีความพยายามที่จะให้ ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถและซ่อมบำรุงกับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ทั้งๆ ที่กลุ่มนี้เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท และที่สำคัญ หากย้อนดูการประมูลที่ ช.ทวีเคยชนะโดยไม่ได้ร่วมกลุ่มกับสแกนอินเตอร์ พบว่า ช.ทวีเคยเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางโดยเสนอราคา 3,800 ล้านบาท มาครั้งนี้คือการประมูลครั้งที่ 8 ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาเพิ่มขึ้นเป็น 4,260 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าที่เคยเสนอไว้เดิมถึง 460 ล้านบาท เหตุใดจึงต้องเสนอราคาเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ราคากลางไม่ได้เพิ่มขึ้น มีความจำเป็นอะไรที่ ช.ทวีต้องร่วมกลุ่มกับสแกนอินเตอร์ และต้องเสนอราคาแพงขึ้น เพราะหาก ช.ทวีไม่ร่วมกลุ่มกับสแกนอินเตอร์โดยยื่นข้อเสนอเพียงบริษัทเดียวไม่มีสแกนอินเตอร์มาพ่วงด้วยในราคาเดิมคือ 3,800 ล้านบาท ก็มีกำไรอยู่แล้ว

นายสามารถ ยังบอกว่า สำหรับรถของ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์จำนวน 100 คัน ที่วิ่งให้บริการอยู่ในเวลานี้นั้น ตนขอเสนอให้ ขสมก.ยื่นหลักฐานการตรวจรับรถต่อศาลปกครองกลางหากมีการรับรถแล้วจริง ซึ่งอาจจะทำให้ศาลพิจารณายกเว้นการทุเลาตามมติของคณะกรรมการ ขสมก.ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เฉพาะกรณีนี้ก็ได้ นั่นหมายความการรับรถจำนวน 100 คัน เป็นการรับรถที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย พี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็สามารถใช้รถเมล์ใหม่ได้อย่างสบายใจ