หมอแนะข้อดีผ่าตัดบายพาสหัวใจ ด้วยเทคนิค 'หัวใจไม่หยุดเต้น'

หมอแนะข้อดีผ่าตัดบายพาสหัวใจ ด้วยเทคนิค 'หัวใจไม่หยุดเต้น'

หมอแนะข้อดีผ่าตัดบายพาสหัวใจ ด้วยเทคนิค "หัวใจไม่หยุดเต้น" (off-Pump CABG)

ในอดีต การผ่าตัดบายพาสหัวใจเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จำเป็นต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมมาช่วยในการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้น ส่งผลให้เกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด มีผลต่อระบบการทำงานของปอด ไต และสมอง ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน มีทางเลือกสำหรับผู้ป่วย หนึ่งในนั้นคือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ต้องหยุดหัวใจหรือการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting) ทำให้หัวใจไม่ต้องหยุดเต้น ส่งผลดีกับผู้ป่วย ลดผลข้างเคียง ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเร็ววัน เป็นวิธีการผ่าตัดที่น่าสนใจสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจ

3_2

นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึง การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจหรือการทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting) คือ การผ่าตัดหัวใจในขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่ โดยนำเครื่องมือเข้ามาเกาะยึดหัวใจให้หยุดนิ่งในตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจยังเต้นเป็นจังหวะ ข้อดีของการผ่าตัดบายพาส ด้วยเทคนิคหัวใจไม่หยุดเต้น (Off-Pump CABG) ที่หลายคนไม่รู้คือ 1.ลดอัตราการเสียชีวิต การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมนั้น จำเป็นต้องหยุดหัวใจเพื่อที่จะใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนแทนปอด จากนั้นใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมปั๊มเลือดเข้าไปเลี้ยงร่างกายส่งผลให้ความดันโลหิตไม่เป็นไปตามปกติ จากที่ประมาณ 120/70 อาจจะอยู่ที่ประมาณ 60-65 เท่านั้น ดังนั้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบในช่วงที่ทำการผ่าตัดบายพาสหากความดันโลหิตค่อนข้างต่ำ อาจส่งผลต่อระบบการหมุนเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ยิ่งในผู้สูงวัยที่มีเส้นเลือดในสมองตีบและเคยป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) นั้นเป็นผลดีต่อการรักษาอย่างมาก และยังช่วยลดโอกาสไตวายและการล้างไตในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตไม่ค่อยดีนัก อีกทั้งลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่หัวใจบีบตัวไม่ค่อยดี

2.เสียเลือดน้อย ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดบายพาสแบบหัวใจหยุดเต้น (On-Pump CABG) หรือการผ่าตัดบายพาสแบบหัวใจไม่หยุดเต้น (Off-Pump CABG) จำเป็นจะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดขณะผ่าตัด (Heparin) ซึ่งหากทำการผ่าตัดแบบ Off-Pump CABG ที่ไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมจะใช้ยาละลายลิ่มเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบOn-Pump CABG ที่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมถึง 3 เท่า ทำให้เสียเลือดน้อยกว่าถึง 70% และไม่ต้องให้เลือดเพิ่มในขณะผ่าตัด

2_3

3.ฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากการผ่าตัดบายพาส ด้วยเทคนิคหัวใจไม่หยุดเต้น (Off-Pump CABG) ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีน้อยกว่ามาก เพราะหากเป็นการผ่าตัดบายพาสแบบหัวใจหยุดเต้น (On-Pump CABG) ที่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมจะมีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบทั่วร่างกาย เนื่องจากเลือดผ่านเครื่องปอดหัวใจเทียมเพื่อเพิ่มออกซิเจนแล้วกลับไปในตัวผู้ป่วยอีกครั้ง เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด รวมถึงการฟื้นตัวและการทำงานของหัวใจอาจลดลงหลังผ่าตัด ดังนั้นหากผ่าตัดแบบ Off-Pump CABG ที่ไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมจะทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หมดไป และสามารถนำเครื่องช่วยหายใจออกจากผู้ป่วยได้ทันทีหลังจากผ่าตัดถึง 80% ในขณะที่การผ่าตัดแบบ On-Pump CABG ผู้ป่วยจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจหลังผ่าตัดอย่างน้อย 3 - 4 ชั่วโมง การนำเครื่องช่วยหายใจออกได้เร็วช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะอวัยวะต่างๆ ทำงานตามปกติ กลับไปใช้ชีวิตได้เร็วยิ่งขึ้น

การผ่าตัดบายพาส ด้วยเทคนิคหัวใจไม่หยุดเต้น (Off-Pump CABG) ที่ในระยะยาวนั้นผลการรักษาไม่แตกต่างกับการผ่าตัดแบบหัวใจหยุดเต้น (On-Pump CABG) สิ่งสำคัญที่สุดคือ การผ่าตัดรักษากับแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ทำให้การผ่าตัดรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา เพราะไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยด้วย รวมถึงความพร้อมของโรงพยาบาลที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือในการรักษาแบบครบองค์รวม ย่อมช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ให้ผู้ป่วยมั่นใจในการรักษา การผ่าตัดได้ผลที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 1719