รู้จัก ‘นักท่องเที่ยวจีน’ ปูทางการค้าข้ามแดน

รู้จัก ‘นักท่องเที่ยวจีน’  ปูทางการค้าข้ามแดน

เซี่ยงไฮ้ขึ้นอันดับ 1 มหานครที่ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซมากที่สุด

รายงานจากการรวบรวมเชิงบิ๊กดาต้า โดยสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวของจีน (China Tourism Academy) และ Ctrip.com บริษัทให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีน ระบุว่า เมื่อปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางออกไปต่างประเทศพุ่งสูงเกิน 130 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2559

ทั้งนี้ มีค่าใช้จ่ายในต่างประเทศรวมค่าเดินทางสูงถึง 11.5 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นการใช้จ่ายที่สูงเป็นประวัติการณ์ และจากรายงานจุดหมายการท่องเที่ยวหรือประเทศที่ชาวจีนนิยมไปกันมากที่สุดก็คือประเทศไทยนั่นเอง

สำหรับประเทศใน 10 อันดับแรก ประกอบด้วยไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเกาะมัลดีฟส์ แต่ทั้งนี้นอกจากการท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้ว จีนเองก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีผู้คนจากทั่วโลกพุ่งเป้ากันมามากเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน

หากมองไปถึงพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าในต่างประเทศ ในรายงานยังระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ใช้จ่ายมากที่สุดมาจากกรุงปักกิ่ง และ นครเซี่ยงไฮ้ ตามมาด้วย ชาวจีนจากเมืองซูโจว เมืองเวินโจว นครเสิ่นหยาง นครฉางชุน เมืองต้าเหลี่ยน เมืองชิงต่าว นครกุ้ยหยาง และนครจี๋หนาน เป็นชาวจีนที่มือเติบในการใช้จ่ายนอกประเทศมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีรายงานของยักษ์อีคอมเมิร์ซอาลีบาบาที่ชี้ว่า การซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์นั้น เซี่ยงไฮ้ ขึ้นแท่นอันดับ 1 มหานครที่คนจีนซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซมากที่สุด ขณะที่นครเสฉวนขึ้นเป็นอันดับ 1 สำหรับการซื้อสินค้าประเภท Luxury ผ่านระบบออนไลน์สูงที่สุด

สำหรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น นอกเหนือจากการออกไปชมสถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีชื่อเสียงแล้ว การจับจ่ายซื้อสินค้าของคนจีนก็อยู่ในระดับสูง ที่น่าสนใจแนวโน้มปีที่ผ่านมาคนจีนที่มีความรู้เกี่ยวกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากความสามารถการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้นนี้เองยังผลักดันให้เกิดความนิยมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวในรูปแบบที่สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นในต่างแดน ขณะนี้แนวทางดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ

หากวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมที่กระตุ้นการท่องเที่ยวของคนจีน นั่นก็คือการเริ่มต้นของ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง BRI ซึ่งมีผลทำให้จีนและหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปยุโรปได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมากขึ้น ในภาคการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้เองก็เห็นชาวจีนเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่มีกำลังซื้อสูงสุด จึงทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาจับกลุ่มตลาดของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นไปด้วย สถานที่สำคัญหลายแห่งจึงเริ่มมีการติดป้ายภาษาจีนหรือมีการให้บริการสำหรับชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศในภาพรวมของคนจีนจึงสะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ หากติดตามสถานการณ์การผันแปรของค่าเงินในระดับโลก จะพบว่าปี 2560 เงินหยวนแข็งขึ้นกว่า 9% ต่อดอลลาร์ ซึ่งนี่อาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวจีนทั่วประเทศเลือกออกเดินทางไปเที่ยวในต่างประเทศกันมากขึ้นนั่นเอง