โคราชช่วงสงกรานต์ตายสะสมสูงสุด20ศพ เรียกตรวจรถ7.6แสนคัน จับ1.4แสนคน

โคราชช่วงสงกรานต์ตายสะสมสูงสุด20ศพ เรียกตรวจรถ7.6แสนคัน จับ1.4แสนคน

สรุป7วันอันตรายช่วงสงกรานต์ โคราชมีคนเสียชีวิตสะสมสูงสุด 20 ศพ จนท.เรียกตรวจรถ 7.6 แสนคัน จับ 1.4 แสนคน เผยเหตุเมาแล้วขับมาที่หนึ่งเหมือนเดิม

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ช่วง 7 วันของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ระหว่างวันที่ 11 - 17 เม.ย. 61 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,724 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 418 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,897 คน

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 336 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.69 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.73 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 18.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.35 รถปิคอัพ 8.05 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.45 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 42.35 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.64 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.32 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,029 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,242 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 726,847 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 146,589 ราย มีความผิดฐาน ไม่สวมหมวกนิรภัย 39,572 ราย ไม่มีใบขับขี่ 37,779 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (16 คน)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (11 – 17 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 418 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,897 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สมุทรสงคราม หนองคาย และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (133 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (20 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (142 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.28 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.85 รถปิคอัพ 7.17 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.66 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.57 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.51 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.65

นายสุธี มากบุญ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 79.85 ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในรูปแบบการประสานพลังประชารัฐวางกลไก

การบริหารจัดการอุบัติเหตุครอบคลุมทุกปัจจัยเสี่ยงทั้ง คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย อีกทั้งวางแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่

ผ่านกลไกของชุมชน และสถาบันครอบครัว โดยผลักดันการจัดทำแผนชุมชนด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสร้างการรับรู้และความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง ด้วยความทุ่มเท และเสียสละ


นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนน อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำชับให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยให้ความสำคัญในประเด็นอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ และการขับรถเร็ว รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ง่วงแล้วขับ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกช่องทางสื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ประสานศูนย์อำนวยการ
ความปลอดภัยทางถนนจังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ที่ครอบคลุม
ทั้งจำนวนอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ รวมถึงข้อมูลผลการวิเคราะห์สภาพปัญหาและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในภาพรวม สำหรับนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายมาตรการและแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาว เพื่อสร้างให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน