'ทย.-ทอท.' ผนึกแก้สนามบินแออัด

'ทย.-ทอท.' ผนึกแก้สนามบินแออัด

"ทย.-ทอท." รับลูก "ไพรินทร์" ผนึกกำลังทำแผนลดความแออัดสนามบิน โดย ทย.จะเปิด 3 สนามบินให้เช่าจอดเครื่องบินค้างคืน พร้อมคุยสายการบินและบริษัททัวร์ปรับเส้นทางท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงสนามบินแออัด

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้ ทย. และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปวางแผนการใช้ประโยชน์สนามบินร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการและเร่งแก้ปัญหาความแออัด โดยเฉพาะในสนามบินของ ทอท. ที่มีแนวโน้มที่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เบื้องต้น ทย. และ ทอท. ได้สรุปแนวทางการใช้ประโยชน์สนามบินร่วมกันแล้ว โดย ทย. เตรียมเปิดพื้นที่บางส่วนของสนามบินในสังกัดจำนวน 3 แห่งคือ พิษณุโลก อุดรธานี และอุบลราชธานี ให้สายการบินต่างๆ ใช้เป็นลานจอดเครื่องบินแบบค้างคืน เนื่องจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิของ ทอท. ประสบปัญหาความแออัดอย่างมาก จน ทอท. จำเป็นต้องออกกฎห้ามสายการบินจอดเครื่องบินแบบค้างคืนภายในสนามบินแต่สนามบินในสังกัดทั้ง 3 แห่งสามารถจอดเครื่องบินค้างคืนได้หากสามารถกำหนดค่าจอดที่เหมาะสมก็จะแบ่งเบาความแออัดจากสนามบินทั้ง 2 แห่งได้

นอกจากนี้ ทย. และ ทอท. จะหารือร่วมกับสายการบิน และบริษัทนำเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อขอให้ปรับตารางบินและโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ โดยเฉพาะในสนามบินที่มีจำนวนผู้โดยสารเกินความสามารถในการรองรับ เช่น สนามบินภูเก็ต โดยจะขอให้สายการบินและบริษัทนำเที่ยว ปรับเส้นทางการบินและโปรแกรมการท่องเที่ยวจากใน จ.ภูเก็ต เปลี่ยนเป็นปลายทางในจังหวัดใกล้เคียง

ในปีงบประมาณ 2562 ทย. ได้ยื่นขอจัดสรรงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่าการพิจารณาและสรุปยอดที่ได้รับจัดสรร

สำหรับโครงการเร่งด่วนในปี 2562 ประกอบด้วย โครงการขยายและพัฒนาสนามบินนครศรีธรรมราช ที่จะลงทุนก่อสร้างอาคารที่พักหลังใหม่ วงเงิน 1,831 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2564 และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4 ล้านคนต่อปี จากปี 2559 อยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินตรังจะเร่งการปรับปรุงและขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 วงเงิน 116 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและโครงการติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระภายในสนามบิน