‘ทีเอ็มบี’ หวังสินเชื่อเอสเอ็มอีฟื้น

‘ทีเอ็มบี’ หวังสินเชื่อเอสเอ็มอีฟื้น

“ทีเอ็มบี” เชื่อสินเชื่อเอสเอ็มอีฟื้น แม้แต่ไตรมาสไม่เป็นตามคาด เดินหน้าหนุนรัฐลดดอกเบี้ยแต่อุ้มเฉพาะราย ยันสินเชื่อยังเติบโตตามเป้าหมายที่ 10% ขณะที่แนวโน้มหนี้เสียต่ำกว่าปีก่อน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากเจอการแทรกแซงของกฎระเบียบ และการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป แต่ก็ยังมีรายได้จากธุรกิจประกัน และ กองทุน ตลอดจนรายได้ที่มาจากดอกเบี้ย
ในปีนี้ ธนาคารมุ่งขยายธุรกิจสร้างการเติบโตในระยะยาว ด้วยการบริหารค่าใช้จ่ายลดที่ไม่จำเป็นนำมาลงทุนด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เทคโนโลยีในระบบ TMB Touch และเพิ่มประสิทธิภาพสาขา พัฒนาบริการกองทุนรวมและประกัน ขณะเดียวกันการตอบโจทย์สังคมสูงวัย จะเป็นโมเดลบิซิเนสใหม่ของธนาคาร

“ปีนี้เรายังไม่ปรับเป้าหมายทางธุรกิจแต่อย่างใด โดยยังตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 8-10% แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่เชื่อว่าจะกลับมาดีขึ้น หลังภาครัฐเริ่มลงทุนทำให้เอกชนลงทุนตาม และส่งผลให้การบริโภคของประชาชนกลับมาฟื้นตัว”

ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในไตรมาสแรก คาดว่ายังไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จากความต้องการสินเชื่อยังไม่ฟื้นตัวเร็วนัก แต่เชื่อว่าน่าจะเห็นผลในไตรมาสถัดๆ ไป หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การลงทุนเอกชน และการใช้จ่ายประชาชนตามมาได้ชัดเจน

หลังจากไตรมาสแรกปีนี้ พบว่า สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบยังเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลจาก 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งออก ท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายภาครัฐ ยังส่งผ่านไปกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีได้ไม่เต็มที่นัก ดังนั้นมองว่า ในระยะถัดไปหากภาครัฐ ยังจำเป็นลดดอกเบี้ยเอสเอ็มอีเป็นรายกรณี เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพและลงทุนเครื่องจักร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและพร้อมสนับสนุน

ทางด้านภาพรวม NPL ของธนาคารในปีนี้ มองว่า แนวโน้ม NPL น่าจะดีกว่าปีก่อน ตามตัวเลขของธปท. รายงาน NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดตั้งแต่ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีก่อน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงธนาคารมุ่งเน้นการบริการความเสี่ยงด้านการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ต้นทุนความเสี่ยง (Risk cost) ในปีนี้ น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% จากปีก่อน 1.5%

สำหรับอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ในระยะยาวธนาคารต้องการเพิ่มเป็น 14-15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% ซึ่งต้องยอมรับว่าการเพิ่ม ROE เป็นสิ่งที่ยาก เพราะปัจจุบันธนาคารต้องประสบกับต้นทุน ค่าใช้จ่าย บางส่วนที่ยังอยู่ในระดับสูง และ การแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็สูงขึ้น