ชี้ 'ครอบครัวไทย' ไร้บุตรเพิ่ม 3 เท่า

ชี้ 'ครอบครัวไทย' ไร้บุตรเพิ่ม 3 เท่า

สถานการณ์ "ครอบครัวไทย" คู่สามีภรรยาไม่มีลูกเพิ่มขึ้น 3 เท่า เหตุค่าเลี้ยงดูลูกเป็นภาระ แต่งงานช้ามีบุตรยากขณะอัตราเกิดทารกไม่พอทดแทน กรมอนามัยรุก “แผนมหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต”หนุนเด็กเกิดน้อยให้มีคุณภาพ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานเยาวชน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอฟพีเอ (United Nations Population Fund : UNFPA) กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย ปี 2558 ที่มีรูปแบบครอบครัวทั้งสิ้น 7 ประเภท พบว่าเรื่องที่น่าวิตกคือ ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากที่ปี 2530 มี 6 % เพิ่มเป็น 16 % ในปี 2556 ซึ่งเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง เนื่องจากเหตุผลของค่าเลี้ยงดู ลูกเป็นภาระ และแต่งงานช้า มีบุตรยาก

น.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาคนเกิดน้อย มีอัตราการเกิดทารกเพียง 1.6 คน ต่ำกว่าอัตราทดแทนของประชากรที่ควรจะอยู่ที่ 2.1 คน ซึ่งการส่งเสริม กระตุ้นให้คนเกิดมากขึ้นเป็นเรื่องยาก แม้แต่ในต่างประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ

สิ่งสำคัญที่กรมอนามัยมุ่งเน้นจึงอยู่ที่ต้องทำให้การเกิดน้อยนั้นเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เกิดเป็นการขับเคลื่อนมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต โดยนับตั้งแต่ที่เริ่มปฏิสนธิและทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุ 2 ปีเป็นช่วงที่โครงสร้างสมองมีการพัฒนาสูงสุดทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายเส้นประสาทนับล้านโครงข่าย ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง เด็กจะมีความสามารถในการเรียนรู้จดจำ รวมถึง เป็นช่วงที่การเจริญเติบโตของร่างกายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

สำหรับแนวทางการดำเนินงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย แต่ละช่วงวัยจะยกระดับ 3 ส่วน ประกอบด้วย ช่วงวัยที่1 หญิงตั้งครรภ์ ระยะ 270 วัน ยกระดับคลินิกฝากครรภ์ เน้นฝากท้องเร็วก่อน 12 สัปดาห์ ดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ด้วยการฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ เฝ้าระวังและติดตามน้ำหนักหญิงตั้งครรภ์ทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการ

ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารทุกคน และทุกครั้งที่มารับบริการ ให้คำแนะนำเรื่องอาหารหญิงตั้งครรภ์ กิจกรรมทางกายและการนอน สุขภาพช่องปาก ป้องกันอุบัติเหตุ จ่ายยาเม็ดไอโอดีน เหล็ก โฟลิกแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนตลอดการตั้งครรภ์ ตรวจสุขภาพช่องปากทุกรายและให้บริการทันตกรรมตามความจำเป็นในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ เป็นต้น

ช่วงวัยที่ 2 เด็กอายุ 0-6 เดือน ระยะ 180 วันส่วนของคลินิกสุขภาพเด็กดีส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วนนมแม่ เฝ้าระวังส่วนสูงและน้ำหนักเด็กทุกคน ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการที่คลินิก แนะนำเรื่องนมแม่ อาหารหญิงให้นมบุตร กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันอุบัติเหตุ จ่ายยาเม็ดไอโอดีน เหล็ก โฟลิกแก่หญิงหลังคลอดทุกคนตลอดการให้นมลูก 6 เดือน ตรวจสุขภาพช่องปากเด็ก แนะนำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เป็นต้น

และช่วงวัยที่ 3 เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี ระยะ 550 วัน​คลินิกสุขภาพเด็กดี​คัดกรอง ส่งเสริม ติดตาม กระตุ้นพัฒนาการเด็ก เฝ้าระวังและติดตามส่วนสูงน้ำหนักเด็กทุกคน ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการที่คลินิก แนะนำเรื่องกิน กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟันเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันอุบัติเหตุ จ่ายยาน้ำเสริมธาตุเหล็กเด้กทุกคน ตรวจสุขภาพช่องปาก ทาฟลูออไรด์วาร์นิชเพื่อป้องกันฟันผุ เด็กที่มีฟันผุได้รับการส่งต่อ

ในส่วนบริการสอนให้พ่อแม่ ผู้เลี้ยงเด็กมีทักษะและความรู้ในเรื่องจัดอาหารทารก 6-12 เดือนและเด็กอายุ 1-2ปีที่เหมาะสม แปรงฟันให้เด็กแบบลงมือปฏิบัติและการตรวจฟันเด็กด้วยตนเอง เฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการ สนับสนุนแปรงสีฟันอันแรกให้เด็กอายุ 6 เดือน เยี่ยมบ้านเด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี เป็นต้น