ยกระดับบขส.สู่ 'สมาร์ทสเตชั่น'

ยกระดับบขส.สู่ 'สมาร์ทสเตชั่น'

การเดินทางของประชาชนทุกวันนี้ ถึงแม้จะมี “ทางเลือก” หลากหลาย แต่รถโดยสารสาธารณะ ก็ยังเป็น “ทางหลัก” ที่ผู้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้

ดังนั้น บขส.หรือ บริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะฝ่ายบริหารจัดการ จึงเดินหน้าปฏิรูปสถานีรถโดยสารสาธารณะ ที่กระจายอยู่ทุกมุมเมืองหลวงเพื่อยกระดับเป็น “สมาร์ท สเตชั่น” (Smart Station) โดยเดินหน้าปรับปรุงของเดิมและเพิ่มเติมของใหม่ พัฒนาบริการรูปแบบสถานีให้ทันสมัย รวมทั้งกระจายสถานีย่อยออกไปยังชานเมือง
จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จำนวนรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการว่า 1 หมื่นคัน เป็นรถ บขส.กว่า 500 คัน รถร่วมบริการกว่า 5,000 คัน รถตู้กว่า 5,000 คัน และบขส.ได้จัดซื้อเพิ่มอีก 314 คัน โดยจะส่งมอบในอีก 2 ปีข้างหน้า

เขาอธิบายถึงแนวทางการพัฒนาสถานีโดยสารไปสู่สมาร์ท สเตชั่น ให้เป็นมาตรฐานสากลว่า ต้องปรับปรุงหลายด้าน เบื้องต้นได้เดินหน้าแผนพัฒนา 3 เรื่องใหญ่ คือ คุณภาพบริการ ความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง

ระหว่างนี้ บขส.เดินหน้าปรับบริการ คุณภาพรถ ฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวก โดยล่าสุดเตรียมใช้ “แอพพลิเคชั่น” ที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งเป็นระบบซื้อตั๋ว ตรวจสอบตำแหน่งรถโดยสารที่กำลังให้บริการได้ตลอดและที่สถานีจะจัดทำจอแสดงข้อมูลการเดินรถเช่นเดียวกับในสนามบิน โดยจะเริ่มในสถานีต่างจังหวัดก่อน และยังเตรียมทำระบบข้อมูลทุกเส้นทางระบุจำนวนรถที่ให้บริการเป็นหมวดหมู่ตามบริษัทที่ให้บริการ

ระหว่างนี้ บขส.ได้วางแผนปรับปรุงการให้บริการและพัฒนาบุคลากร โดยตั้งสถาบันฝึกทักษะการขับโดยสารสาธารณะขั้นสูง ซึ่งเปิดทำการมาแล้วกว่า 6 เดือน มีบุคลากรที่เป็นผู้ขับขี่อาวุโส ประมาณ 20 คน คอยให้ความรู้และกำกับดูแลการขับขี่ของพนักงานขับรถของ บขส. เพื่อให้คนขับรถมีทักษะที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการดูแลสภาพเครื่องยนต์ให้พร้อมเสมอ และในอนาคตจะติดตั้งเครื่องทดสอบการขับขี่รถยนต์ โดยจำลองสภาพแวดล้อมการขับขี่ประเภทต่างๆ โดยจะพัฒนาระบบร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือบริษัทเอกชนของไทย คาดว่าจะเริ่มทดลองใช้ช่วงต้นปี 2562

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาระบบจีพีเอสให้ทันสมัยขึ้น โดยสามารถระบุตำแหน่งเส้นทางที่ต้องระมัดระวังสูงลงในระบบ เมื่อรถโดยสารขับไปถึงจุดนั้น ระบบจะแจ้งเตือนเพื่อให้คนขับรถทราบทันที ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหากได้ผลดีจะขยายผลไปยังรถร่วมบริการและรถตู้หลังปี 2561

นอกจากนี้ บขส.ยังมีแผนกระจายสถานีแวะรับผู้โดยสารระหว่างทาง เพื่อลดความแออัดตามสถานีกลางขนาดใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องมาขึ้นรถที่สถานีขนส่งใหญ่เพียงแห่งเดียว จะใช้วิธีให้ผู้โดยสารระบุตำแหน่งสถานีย่อยที่ต้องการขึ้น ภายในแอพพลิเคชั่น เมื่อรถใกล้ถึงจุดแวะรับแอพพลิเคชั่นจะเตือนให้ทราบทั้งผู้โดยสารและพนักงานขับรถ ซึ่งสามารถรู้ทันทีว่า ที่จุดแวะรับนั้นผู้โดยสารที่รออยู่คือใคร รวมถึงทำจุดจอดรถกระจายอยู่ตามสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า เพื่อให้การบริหารเส้นทางเดินรถมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนแผนปรับปรุงสถานีรถโดยสารต่างๆ ของ บขส.ขณะนี้ ได้แก่ ย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับไปที่เดิมภายใน 6 ปี ย้ายสถานีขนส่งเอกมัยไปย่านบางนา ปรับปรุงสถานีขนส่งสายใต้ปิ่นเกล้า สถานีสามแยกไฟฉาย และสถานีเดินรถรังสิต จ.ปทุมธานี ซึ่งผู้บริหาร บขส.บอกว่า แผนพัฒนาสถานีรถโดยสารในด้านต่างๆ จะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมช่วงกลางปี 2562 และเมื่อระบบทุกอย่างสมบูรณ์ จะทำให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นระบบมากขึ้น และจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล “บิ๊กดาต้า” ของผู้โดยสาร

อีกเป้าหมายในการพัฒนาสถานีขนส่ง คือ การสร้างรายได้ที่จะตามมา ซึ่ง บขส.ตั้งเป้าว่า จะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และมีกำไร 120 ล้านบาท โดยยกตัวอย่าง การเตรียมย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับไปที่เดิม เพราะต้องคืนพื้นที่ให้การรถไฟฯ นำไปก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง และพัฒนาเป็นพื้นที่ในเชิงธุรกิจที่จะสร้างรายได้สูงกว่า

สำหรับแผนเพิ่มรายได้ ที่ฝ่ายบริหารได้นำเสนอคณะกรรมการของ บขส.ว่าในปี 2561 จะปรับปรุงองค์กรและพัฒนาบริการต่างๆ โดยวางเป้าหมายว่าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และมีกำไร 120 ล้านบาท ปัจจุบันรายได้หลักของ บขส.มาจากการเดินรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังถือว่ามีกำไรดีอยู่ อีกส่วนคือการรับส่งวัสดุภัณฑ์ทั่วประเทศ ที่สร้างรายได้ให้ บขส.ได้มากเช่นกัน

ถึงแม้รถโดยสารสาธารณะจะมีข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนผู้โดยสาร แต่ก็ประมาทเรื่องการแข่งขันทางการตลาดไม่ได้ โดยเฉพาะสายการบินโลวคอสต์ ซึ่งผู้บริหาร บขส.มองว่า ถึงแม้ลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่ม แต่ บขส.ก็ต้องพัฒนาเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ได้

หากเป็นไปตามแผน บขส.เชื่อว่า ระบบขนส่งสาธารณะของไทย จะมีมาตรฐานเทียบเท่านานาชาติแน่นอน

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ