ไม่คุย 'สุเทพ' นานแล้ว ชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯคนนอก

ไม่คุย 'สุเทพ' นานแล้ว ชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯคนนอก

"อภิสิทธิ์" ไม่คุย "สุเทพ" นานแล้ว ชี้ไม่ใช่เรื่องง่าย "ประยุทธ์" นั่งนายกฯคนนอก ย้ำประชาธิปัตย์ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์กับนายสุทธิชัย หยุ่น โดยมั่นใจว่าการเลือกตั้งส.ส. ครั้งแรกหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในปี 2562 อย่างแน่นอน แม้ขณะนี้จะมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และหาผลการวินิจฉัยจะมีผลกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้งไม่เกิน 1-2 เดือน แต่หากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการยึดตามโรดแม็พเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ คนเสนอให้กลับไปแก้ไข ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าด้วยการมีผลบังคับใช้ จากเดิมที่ให้มีผลหลังจากประกาศ ใน 90 วัน เป็นให้มีผลบังคับใช้ทันที ส่วนเงื่อนไขที่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 ระบุว่าหลังการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ คสช. หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณายกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองและทำแผนขั้นตอนทางการเมืองเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ตนไม่เชื่อว่าจะเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การยื้อเลือกตั้ง ในปี 2562 และตนมองว่าเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ความกดดันให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.

นายอภิสิทธิ์ ยังวิเคราะห์ถึงแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะหมดสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส. ทั้งระบบเขตหรือระบบบัญชีรายชื่อ แต่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสไว้ทุกช่องทาง ทั้งการสนับสนุนผ่านพรรคการเมืองด้วยบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองจะสนับสนุน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องให้ความยินยอม ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวตนมองว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกติกาในรัฐธรรมนูญระบุว่าพรรคการเมืองที่จะได้สิทธิเสนอชื่อบัญชีนายกฯของพรรค ต้องได้เสียง ส.ส. ในสภาฯ เกิน 25 เสียงขึ้นไป แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเหมือนไม่มาก แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และหากพรรคการเมืองที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธุ์ได้เสียงไม่ถึงเกณฑ์ และอยากจะกลับไปใช้แนวทางนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองแม้ไม่มีปัญหาทางกฎหมายแต่จะไม่สง่างาม ขณะที่แนวทางนายกฯ คนนอก ที่มาภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถลงมติ หรือให้ความเห็นชอบบุคคลในบัญชีของพรรคเป็นนายกฯ ตามเสียงข้างมาก จะเข้าสู่แนวทางการนายกฯ คนนอก ดังนั้นตนไม่ทราบความต้องการของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าต้องการกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบหรือไม่ แต่กติกาที่กำหนดไว้มีทางออกไว้ให้ทุกช่องทาง

"ผมอยากฝากด้วยว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิส.ว.เลือกนายกฯ ด้วย แต่การใช้สิทธิของส.ว. ทั้ง 250 คนควรเคารพเจตนารมณ์ และเคารพเสียงข้างมากของประชาชน หากในสภาฯ สามารถเลือกนายกฯ ด้วยเสียงเกิน 250 เสียงได้ ส.ว.ไม่ควรขวาง ไม่เช่นนั้นส.ว.จะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนทันที ผมมองด้วยว่าเหตุที่รัฐธรรมนูญเขียนสิทธิให้ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ เพื่อไม่ให้อยากให้เกิดทางตันทางการเมือง แต่หากส.ว.ตั้งตัวเองเป็นขั้วใดทางการเมือง แทนจะแก้ขัดแย้งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในที่สุด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สมาชิกพรรคควรสนับสนุนหัวหน้าพรรคให้เป็นนายกฯ ทั้งนี้ในเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์คือการชนะเลือกตั้งและรวมเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เสียงข้างมากจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณา ใน 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ทิศทาง นโยบายการบริหารประเทศที่ดีสำหรับประเทศ และสอดคล้องกับจุดยืนหรือแนวคิดที่ถูกต้องบนหลักของพรรค ไม่ใช่ยึดติดที่ตัวบุคคล ขณะที่การตั้งพรรค กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค และนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นั้นส่วนตัวถือเป็นสิทธิที่ทำได้ และเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ส่วนจะกระทบฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่นั้น ตนมองว่าเมื่อมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นยิ่งมาก ต้องแย่งคะแนนเสียงเป็นปกติ

"ผมไม่ได้คุยกับคุณสุเทพนานแล้ว แต่ผมยังรักและเคารพเหมือนเดิม แต่ในแนวคิดของคุณสุเทพระยะหลังๆ ไม่ตอบโจทย์ อย่างเรื่องท้ายๆ ที่คุยกัน คือ พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯหรือไม่ ผมให้เหตุผลไปว่า พรรคคือสถาบัน ที่ต้องหนุนหัวหน้าพรรค และประชาธิปัตย์ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล ไม่สามารถผูกจุดยืนที่ตัวบุคคลได้ และการบริหารของคุณประยุทธ์ในปัจจุบันไม่ใช่ทิศทางที่ดีที่สุดของประเทศ เพราะสร้างรัฐราชการ ที่ไม่ตอบโจทย์ประเทศและอนาคตของบ้านเมือง ทำให้กลายเป็นความแตกต่าง ดังนั้นหากคุณสุเทพ และพรรคกปปส. มองว่ามีทางที่ดีกว่าและสนับสนุนคุณประยุทธ์ ก็ชอบธรรมแล้วที่เขาจะไปตั้งพรรคการเมือง และลงแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ ส่วนประชาธิปัตย์จะร่วมงานกับเขาได้หรือไม่ ต้องดูที่แนวทางบ้านเมือง หากไปด้วยกันได้ ก็ไป แต่หากไม่ได้ ก็ยืนกันคนละข้าง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว