กรมควบคุมโรค ห่วงเด็กจมน้ำช่วงสงกรานต์

กรมควบคุมโรค ห่วงเด็กจมน้ำช่วงสงกรานต์

กรมควบคุมโรค ห่วงเด็กจมน้ำช่วงสงกรานต์ หลังพบเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 ราย แนะอย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเอง

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเดือนเมษายนซึ่งตรงกับช่วงที่อากาศร้อนที่สุดพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่พบเด็กจมน้ำสูงสุด จากข้อมูลช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2560) พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 173 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย มากกว่าช่วงวันปกติถึง 2 เท่า โดยในวันที่ 14 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 7 ราย

จากข้อมูลในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่าช่วงสงกรานต์เพียง 3 วัน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 12 ราย โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มเด็กอายุ 4-12 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาเป็นเด็กเพศหญิงถึง 9 ราย เป็นเด็กเพศชายเพียง 3 ราย ซึ่งต่างจากช่วงปกติทั่วไปซึ่งจะพบว่าเพศชายจมน้ำมากกว่าเพศหญิงกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ แหล่งน้ำที่เกิดเหตุจะเป็นบริเวณฝายน้ำล้นและคลองชลประทาน เหตุการณ์ที่มักพบบ่อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ครอบครัวจะกินเลี้ยงสังสรรค์และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำสนุกสนานกันเอง หรือเด็กๆ แอบหนีผู้ปกครองไปเล่นน้ำบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ เด็กไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ใช้อุปกรณ์ในการช่วยพยุงตัวในน้ำขณะเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงไม่รู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง ทำให้จมน้ำเสียชีวิต

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนในการเล่นน้ำให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ดังนี้ 1.สวมเสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงตัวทุกครั้งเมื่อเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ 2.หากไม่มีเสื้อชูชีพให้นำอุปกรณ์ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย (1 คนต่อ 1 ชิ้น) ใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกปิดฝาผูกเชือกและสะพายแล่ง เป้ผ้าบรรจุขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา เป็นต้น 3.สถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย กั้นบริเวณที่เล่นน้ำได้ให้ชัดเจนและทำป้ายแจ้งเตือน จัดให้มีเสื้อชูชีพอย่างเพียงพอและให้ผู้รับบริการสวมใส่ทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมทางน้ำ
4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบริเวณที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เล่นน้ำอย่างเพียงพอ 5.แนะนำไม่ให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อ/สระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจพลัดตกหรือลื่นลงน้ำได้ 6.พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพังแม้จะเป็นแหล่งน้ำที่ใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม และ 7.ชุมชนจัดหาอุปกรณ์การช่วยเหลือคนตกน้ำ ที่หาง่ายไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง และคอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง

อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ“ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422