กูรูแนะปรับ ‘ก.ม.ผังเมือง’ รับสังคมสูงวัย-สร้างรายได้ประเทศ

กูรูแนะปรับ ‘ก.ม.ผังเมือง’ รับสังคมสูงวัย-สร้างรายได้ประเทศ

IDEaR ผุด 3 แผนยุทธศาสตร์ พัฒนางานออกแบบรองรับ “สังคมผู้สูงอายุ” แนะรัฐพิจารณาสิทธิพิเศษด้านภาษี-ปรับ กม. ผังเมืองพื้นที่ศักยภาพ รองรับคนแก่ต่างชาติสร้างรายได้เข้าประเทศ

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ หัวหน้าศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Inclusive Designed Environment and Research:IDEaR) เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับข้อจำกัดผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ เนื่องจากที่อยู่อาศัยคือปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าบริบทการส่งเสริมบ้านพักสำหรับคนสูงอายุในประเทศไทยนั้น เหมาะสมกับแนวคิด “Aging in Place” หรือ “ชราในถิ่นที่อยู่อาศัย” หมายความว่าไม่ควรย้ายผู้สูงอายุไปอยู่ที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวหน้าไปไกล ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัยได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนการหกล้ม หรือการติดกล้องวงจรปิดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่งสัญญาณจากที่บ้านไปยังสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา

ผศ.ดร.อันธิกา อธิบายว่า การส่งเสริมมาตรการให้ผู้สูงอายุชราในถิ่นที่อยู่อาศัย ย่อมส่งผลดีต่อสภาวะและจิตใจของผู้สูงอายุมากกว่าการย้ายไปอยู่ในที่ใหม่ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงบ้านพัก ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการอยู่อาศัย เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การลดพื้นที่ต่างระดับ การทำทางลาดเพื่อง่ายต่อการเดินและเข็นรถวีลแชร์ขึ้นลง การย้ายห้องนอนจากชั้นบนลงมาด้านล่าง แต่ในบางครอบครัวมีความเชื่อว่าผู้ใหญ่ต้องอยู่ข้างบน ก็อาจพิจารณาติดตั้งลิฟต์หรือแพลตฟอร์มลิฟต์ (Platform Lift)ประเภทลิฟต์ราวบันได เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนของชุมชนเองก็ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อม และวางระบบโครงสร้างต่างๆ โดยออกแบบเมืองให้มีความเหมาะสมเอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่น การสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้สูงอายุมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน การทำที่นั่งพักทุกๆ 200 เมตร การขยายทางเท้าและเคลียร์สิ่งกีดขวาง การเปลี่ยนรถเมล์เป็นแบบชานต่ำ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมให้ห้างสรรพสินค้ามีรถวีลแชร์ให้ยืม เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวพาผู้สูงอายุมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น

“ประเทศญี่ปุ่นคือโมเดลต้นแบบในการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมผู้สูงอายุ ปรับปรุงบ้านพักให้สะดวกสบายและปลอดภัยสำหรับคนแก่ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่หลังคาเรือนละ 1-2 แสนบาท แม้ว่าปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนค่าปรับปรุงบ้านเรือนสำหรับผู้สูงอายุ หลังคาเรือนละ 20,000 บาท แต่ยังคงไม่เพียงพอ จึงอาจพิจารณามาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง”

ผศ.ดร.อันธิกา บอกว่า สำหรับแนวทางของการสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมสูงอายุซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้คือ การจัดหาพื้นที่ในการสร้างหรือพัฒนาบ้านพักคนชรา ในรูปแบบของNursing HomeหรือSenior Care Nursing Home ซึ่งขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความเหมาะสม ในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยพิจารณาให้สิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อจูงใจนั้น เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการรองรับสังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ

ปัจจุบันหลายจังหวัดในประเทศไทยก็มีโครงการลักษณะนี้กระจายตัวอยู่ เช่น เชียงใหม่ และชลบุรี เป็นต้น เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ชีวิตอันหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัว ญาติ พี่น้อง หรือลูกหลาน รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งบริการผู้สูงอายุชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศโซนยุโรปที่อากาศค่อนข้างหนาว เข้าใช้บริการพักพิงในประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง อาจพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่ดินและผังเมือง สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรบางแห่งที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรอยู่ประมาณ 65.9 ล้านคน โดยเป็นผู้สูงอายุ 10.5 ล้านคน คิดเป็น 16.5% ของประชากรทั้งประเทศ จึงถือได้ว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และคาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2564 และถัดจากนั้นอีก 10 ปี คือ ปี 2574 คาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ

โดยประเทศไทยจัดอยู่ในภาวะสูงวัยของประชากร เป็นอันดับที่สองของอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ส่วนประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปีขึ้นไป) คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วจาก 24.6% ในปี 2543 เหลือ 11.2% ในปี 2573 ขณะที่ ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าใน ปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ส่งผลให้ 1 ใน 3 คือ 35% ของผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน ขณะที่ 7% เคยหกล้มภายในบ้าน มากกว่า 60% ของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันเลือดสูง มากกว่า 10% ของผู้สูงอายุวัยปลายเป็นโรคเบาหวาน และมากกว่า 70% ของผู้สูงอายุวัยปลาย มีฟันไม่ครบ 20 ซี่ และ 56% รายงานว่าตนเองมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง

ผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือผู้สูงอายุกลุ่มที่ติดสังคมมีอยู่จำนวน 8,572,780คน (คิดเป็น 79.50%) จะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง (Active aging) โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ศักยภาพของตนเองในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งนำไปสู่การสร้างรายได้และเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านมีอยู่จำนวน 2,048,840คน (คิดเป็น 19%) จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น และเน้นให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดูแลของตนเอง เพื่อลดภาวะพึ่งพิงให้มากที่สุด กรมกิจการผู้สูงอายุมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 878 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ และส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยในปี 2561 จะขยายผลเพิ่มอีก 400แห่ง รวมเป็น 1,278แห่งผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียงมีอยู่จำนวน 161,760คน (คิดเป็น 1.50% )จะมุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ให้ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน

ที่มา : นพ.กรุงเทพธุรกิจ