กรมสุขภาพจิต หนุนผู้สูงวัยสร้าง 'สุข 5 มิติ'

กรมสุขภาพจิต หนุนผู้สูงวัยสร้าง 'สุข 5 มิติ'

กรมสุขภาพจิต หนุนผู้สูงอายุ "สร้างสุข 5 มิติ" ส่งเสริมสุขภาพจิตดี มีคุณค่า ลดการพึ่งพิง เตรียมประเมินคุณภาพชีวิต ความสุขโดยรวมผู้สูงอายุครั้งแรกทั่วไทย พ.ค.นี้

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันผู้สูงอายุ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน ทุกปีว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยในปี 2560 ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ

ในปี 2561 นี้ กรมสุขภาพจิต เน้นการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมสร้างสุข 5 มิติผ่านทางชมรมผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 50 หรือจำนวน 13,196 แห่ง และจะขยายเพิ่มให้ครบทุกแห่งในปีหน้านี้ จะทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพจิตดี และมีสุขภาพกายดีตามไปด้วย หรือที่เรียกว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ลดการพึ่งพิงคนในครอบครัว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ความสุข 5 มิติ เป็นความสามารถที่จำเป็นพื้นฐานของผู้สูงอายุที่จะทำให้มีความสุข ประกอบด้วย 1.สุขสบาย (Happy Health) ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง คล่องแคล่ว ชะลอความเสื่อมและคงสมรรถภาพทางกายให้นานที่สุด โดยออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การเดิน รำไทเก๊ก ทำให้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อครั้งอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือวันเว้นวัน 2.สุขสนุก (Recreation)มีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อน พูดคุยกับคนในครอบครัว ทำกิจกรรมที่ทำให้จิตใจแจ่มใส เช่น เล่นกีฬา ดนตรี กิจกรรมนันทนาการต่างๆ จะทำให้อายุยืนกว่าคนที่ไม่มีสังคมถึง 7 ปี 3.สุขสง่า (Integrity) เป็นความรู้สึกพึงพอใจ ภาคภูมิใจ มีคุณค่า เช่นเป็นที่ปรึกษาของครอบครัว ลูกหลาน เป็นจิตอาสา เป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน

4.สุขสว่าง (Cognition )เป็นความสามารถของสมองทั้งด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุผล โดยอย่าหยุดยั้งที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นเรียนภาษาต่างถิ่น ฝึกคิดเลขในใจบ่อยๆหรือสวดมนต์โดยไม่ต้องอ่านจากหนังสือ จำเบอร์โทรศัพท์คนใกล้ชิด ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง และ 5.สุขสงบ (Peacefulness) ผู้สูงอายุสามารถเข้าใจและจัดการอารมณ์เพื่อให้เกิดความสงบทางใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ฝึกสติ ฝึกสมาธิ บริหารจิตอย่างสม่ำเสมอ การศึกษาพบว่าจะมีผลต่อสุขภาพมาก ทำให้ความดันโลหิตลดลง และนอนหลับได้ดี

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการประเมินความสุขรวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งทำเป็นครั้งแรกในประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบบริการให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุยิ่งขึ้น โดยใช้แบบประเมินสุขภาพจิตผู้สูงอายุฉบับสั้นและเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ

ด้านนางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้สำนักฯได้จัดทำคู่มือการสร้างสุข 5 มิติ สนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขและชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศนำไปใช้แล้ว โดยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพจิตดี จะมีลักษณะ 5 ประการคือ 1.ร่างกายแข็งแรง ดูกระฉับกระเฉง เดินเหินได้คล่องแคล่วตามศักยภาพ 2.มีอารมณ์ดีและมีสังคม จิตใจแจ่มใสเบิกบาน หัวเราะได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และรู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกหลาน ไม่บ่นว่าลูกหลาน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มเพื่อนหรือคนรู้จัก 3.มีคุณค่า พยายามช่วยเหลือตนเอง โดยพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุด รู้จักให้ วิธีการให้ที่ง่ายที่สุดคือให้คำแนะนำและถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับลูกหลานหรือชุมชน 4.มีความคิดดี สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ความเป็นไปของโลก รู้จักตั้งคำถามหรือหาคำตอบที่สงสัย เพื่อให้เกิดความคิดพัฒนาอยู่เรื่อยๆ และคิดทันสมัย และ 5.ชื่นชมชีวิต มีความเข้าใจชีวิต ควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้น รู้จักวิธีการผ่อนคลายที่ก่อให้เกิดความสงบทางใจ โดยผู้สูงอายุสามารถตรวจประเมินสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตตนเองได้ทางระบบออนไลน์ ทาง www.sorporsor.com