‘กราวิเทค’คิดใหญ่ ปั้นเมกเกอร์เพื่อชาติ

‘กราวิเทค’คิดใหญ่   ปั้นเมกเกอร์เพื่อชาติ

“กราวิเทค” ธุรกิจออกแบบและผลิตบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ร่วมขับเคลื่อนวงการเมกเกอร์ไทย โดยยึดไอทีมอลล์เปิดเมกเกอร์สเปซ

“กราวิเทค” ธุรกิจออกแบบและผลิตบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ร่วมขับเคลื่อนวงการเมกเกอร์ไทย โดยยึดไอทีมอลล์เปิดเมกเกอร์สเปซทั้งบนศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในรูปแบบศูนย์วิจัยพัฒนา ผลิตอิเล็กทรอนิกส์และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักประดิษฐ์ (RICH) ได้รับสนับสนุนสินเชื่อนวัตกรรมดอกเบี้ยต่ำ 40.25 ล้านบาทจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยต้นแบบแห่งแรกของไทยจะรองรับการวิจัยและพัฒนาที่ครบวงจรสำหรับนักวิจัยและบริษัทเอกชน ด้วยทีมงานวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ศูนย์แห่งชาติในสังกัด สวทช. พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย รวมไปถึงการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคเอกชนภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ กว่า 70 บริษัท จึงช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการสั่งผลิตต้นแบบมาจากต่างประเทศ หวังดันเมกเกอร์และฮาร์ดแวร์สตาร์ทอัพ ผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองออกสู่ตลาดโลก

คลาวด์ฟันดิงต่อยอดธุรกิจ

ชานนท์ ตุลาบดี ประธานกรรมการ บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า กราวิเทคเริ่มเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2556 เพื่อสนับสนุนและนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทยออกไปจำหน่ายทั่วโลก แต่ขณะนั้นวงการเมกเกอร์ไทยขาดอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งขาดพื้นที่ให้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ จึงเปิดให้บริการในรูปแบบเมกเกอร์สเปซ และในปี 2558 ได้ร่วมสนับสนุนภาครัฐจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เพื่อกระตุ้นการรับรู้ให้เกิดในสังคมไทย

“3 ปีแรกค่อนข้างยาก คนไทยยังไม่รู้จักเมกเกอร์ หลายคนสงสัยว่าจะทำเป็นธุรกิจได้อย่างไร เมกเกอร์กับสตาร์ทอัพต่างกันอย่างไร แต่ 2 ปีที่ผ่านมาเมกเกอร์เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น ประกอบกับมีการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ก็ทำให้วงการนี้บูมขึ้น ส่วนกราวิเทคจะเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนต่างๆ เริ่มจากการบ่มเพาะเพื่อสร้างชิ้นงานต้นแบบ ช่วยในการระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิง จากนั้นก็ทำหน้าที่ผลิตจนถึงดูแลด้านการตลาดและเมื่อถึงเวลาก็แบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน"

ยกตัวอย่าง เมกเกอร์รายหนึ่งใช้ iBeacon เป็นเทคโนโลยีติดตามตำแหน่งสิ่งของภายในอาคาร เพื่อที่จะรู้ว่าสิ่งของที่ติดอุปกรณ์อยู่ในรัศมีเท่าไร สามารถประยุกต์ใช้กับงานโฆษณาในรีเทลช็อป อาทิ หากลูกค้ายืนดูรองเท้ายี่ห้อหนึ่งนานเกินกี่นาที ระบบจะส่งข้อความมายังสมาร์ทโฟนของลูกค้าเพื่อบอกว่า รองเท้ายี่ห้อนั้นมีโปรโมชั่นอะไรบ้าง โดย RuuviTag เป็นแบรนด์ที่สามารถระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิงและผลิตออกวางจำหน่ายทั่วโลก มียอดขาย 4-5 แสนชิ้นต่อเดือน

“จากที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกมาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หากผลิตภัณฑ์ไหนที่มีความพร้อมหรือระดมทุนได้แล้วก็ส่งมาผลิตกับโรงงาน ซึ่งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ จากนั้นเราจะทำหน้าที่ขายและทำการตลาดให้ได้เพราะมีเครือข่ายอยู่ในสหรัฐอเมริกา”

ระดมทุน-ร่วมทุนรัฐขยายธุรกิจ

ขณะนี้ถือเป็นช่วงเริ่มต้นของธุรกิจที่กำลังเดินหน้าต่อไปแบบก้าวกระโดด เนื่องจากกลุ่มเมกเกอร์เข้ามามีบทบาทในการเติมเต็มช่องว่างให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งไม่คุ้มทุนที่จะผลิตชิ้นงานต้นแบบจำนวนไม่กี่ชิ้น กราวิเทคก็จะเข้าไปสนับสนุนในจุดนี้ สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วจากปีแรกยอดขาย 2 หมื่นบาท ขยับมาเป็น 3 ล้านบาท 10 ล้านบาท 22 ล้านบาทและปีล่าสุด 68 ล้านบาท ส่วนในปีนี้แม้ยังไม่จบครึ่งปีแต่มีรายได้ 100 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

อนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้ากราวิเทคจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมนักประดิษฐ์ไทยหรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับประเทศ ที่ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ หรือมาช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเหมือนแบรนด์ซัมซุงหรือแอลจีจากเกาหลี โดยมี 2 แนวทางการขยายธุรกิจ 1.เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ 2. ดึงหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.เข้ามาถือหุ้นไม่เกิน 10%

“ในแง่โอกาสความเป็นไปได้ทั้งสองทางไม่ง่าย แม้ว่าจะทำงานร่วมกับ สวทช.และวิสัยทัศน์ตรงกันที่ต้องการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ แต่ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์จะเกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้มาก เพราะมีการระดมทุนได้มาก ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกโมเดลใดแต่คาดว่าปีหน้าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น” ชานนท์ กล่าว