สังคมสูงวัย โตบนฐานนวัตกรรม

สังคมสูงวัย โตบนฐานนวัตกรรม

“สังคมผู้สูงอายุ” โจทย์สำคัญของนักวิจัยในการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เอื้อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“สังคมผู้สูงอายุ” โจทย์สำคัญของนักวิจัยในการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เอื้อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็เป็น 1 ใน 5 กลุ่มแผนงานเป้าหมายในโครงการ Innovation Hubs โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่จะสนับสนุนและผลักดันผลงานวิจัยไฮไลต์ในมหาวิทยาลัยออกสู่ตลาด เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0

ตัวอย่างผลงานเด่นในกลุ่มนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์เสมือนจริงสวมใส่เพื่อความบันเทิง แอพพลิเคชันป้องกันหกล้มและสมาร์ทโฮม ที่จะนำเสนอผ่านเวทีต่างๆ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมองเห็นว่าสามารถตอบโจทย์คนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

VR ฟื้นฟูร่างกาย-คลายเหงา

รัฐภูมิ วรานุสาสน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัญหาผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่ใช้วีลแชร์มักจะเก็บตัวในบ้าน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะการจราจรไม่เอื้อให้ใช้ชีวิตนอกบ้าน จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “เครื่องจำลองเสมือนจริงต้นทุนต่ำสำหรับผู้ใช้เก้าอี้เข็น” โดยการประยุกต์ใช้งานร่วมกับระบบเซนเซอร์และเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual reality) ทำให้เข้าสู่โลกเสมือนจริงผ่านเกมเล่นเก็บของด้วยการหมุนล้อวีลแชร์

จุดประสงค์เพื่อความเพลิดเพลินและออกกำลังแขน คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปีทำการทดลอง นอกจากนี้ก็กำลังจะพัฒนาให้รองรับผู้เล่นได้หลายคน แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน โดยดีไซน์เกมให้สามารถแข่งขันกันจากปัจจุบันที่เป็นเกมเก็บของในสวนสาธารณะและวัดพระแก้ว ในอนาคตจะพัฒนาให้มีความรู้สึกเสมือนจริงมากขึ้น และพัฒนาเป็นชุดประกอบที่ใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมกันนี้อาจพัฒนาให้ใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกเดิน เพื่อกระตุ้นให้เดินมากขึ้นผ่านกูเกิลสตรีทวิว

แอพพลิเคชันป้องกันหกล้ม

เทอดศักดิ์ ลิ่วหาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าถึงที่มาแนวคิดว่า เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อายุ 80 กว่าปีจึงค่อนข้างกังวลเวลาที่ท่านอยู่กันลำพังโดยเฉพาะเรื่องการหกล้ม จึงพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุในเวลาที่ลูกหลานต้องไปทำงาน

อุปกรณ์ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเซนเซอร์ตรวจจับการเดินและการทรงตัว เพื่อแจ้งว่าผิดปกติหรือเสี่ยงหกล้มหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะส่งสัญญาณเข้าสมาร์ทโฟนของผู้ดูแลตามที่ระบุไว้ ส่วนที่ 2 เป็นแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ที่ผู้ดูแลจะต้องกรอกข้อมูลเพื่อประเมินว่าผู้สูงอายุมีความผิดปกติอย่างไร เช่น รับประทานน้อยลง น้ำหนักตัวลดลง ปัสสาวะบ่อย ฯล เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและรักษาได้ทันท่วงที เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงว่าเกิดจากอะไร

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลศิริราช ภูมิพลและสิรินธร เพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น หลังจากที่พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลา 1-2 ปีเพื่อนำมาใช้กับผู้สูงอายุที่เป็นโรคพาร์กินสัน เบาหวานและโรคอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการหกล้ม

อุปกรณ์นี้จะช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในการมอนิเตอร์คนไข้ได้อีกทางหนึ่ง ส่วนในอนาคตจะพัฒนาเพื่อให้สามารถตรวจจับระยะการเป็นโรคพาร์กินสันช่วงเริ่มต้น หรือโรคอื่นๆ ในระยะแรก เพื่อที่จะชะลออาการที่มีผลต่อการหกล้ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

สมาร์ทโฮมรับสังคมสูงวัย

ผศ.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัย ยกตัวอย่างเครื่องเตือนล้ม เตียงที่เคลือบด้วยวัสดุต้านแบคทีเรียสำหรับผู้มีปัญหาแผล อุปกรณ์ฝึกสมาธิจากคลื่นสมองสำหรับผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ-เครียด รองเท้าสร้างสมดุลที่สามารถทำนายการเกิดอุบัติเหตุและแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลหรือสถานพยาบาล

นวัตกรรมเหล่านี้สร้างสรรค์โดยนักวิจัยต่างสถาบันแต่ทำงานวิจัยคล้ายกัน จึงรวบรวมเข้ามาไว้ในโครงการ “สมาร์ทโฮมฟอร์เอจจิ้ง” ที่รวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับไอโอทีเข้ามาใช้ด้วยกัน ทำให้ลูกหลานวางใจที่ให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านอัจฉริยะตามลำพังโดยมีอุปกรณ์และหุ่นยนต์คอยดูแล หรือใช้ระบบการแพทย์ทางไกลในการดูแลสุขภาพที่บ้านแทนการไปโรงพยาบาล

“เราพยายามเชื่อมโยงนวัตกรรมทุกชิ้นมารวมที่ศูนย์กลางในโรงพยาบาลหัวเมือง จะทำให้สามารถวางแผนการให้บริการได้ว่า รถพยาบาลควรจอดอยู่ที่ไหน ทางโรงพยาบาลควรเตรียมตัวอย่างไร หรือสถานการณ์แบบนี้ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงอะไร เป็นการบูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนการทำงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือก่อนเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการรวมมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่ทำงานคล้ายกันให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน แล้วนำไปดูแลคนในพื้นที่ของตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างการพัฒนานวัตกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ส่วนในเฟส 2 จะชักชวนนักลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมองเห็น

"ขณะนี้นวัตกรรมมีอยู่แล้วแต่ต้องทำให้ได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติ มีการออกแบบให้สวยงาม ตลอดจนพัฒนาบ้านต้นแบบที่จะเป็นแพลตฟอร์มตัวอย่างซึ่งรวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยหัวเมืองทั่วประเทศ” ผศ.ยศชนัน กล่าว