เสวนา 'เสือดำทุ่งใหญ่ ฯ ถูกฆ่าตาย คนไทยได้รับเรียนอะไร'

เสวนา 'เสือดำทุ่งใหญ่ ฯ ถูกฆ่าตาย คนไทยได้รับเรียนอะไร'

อดีตรองอธิบดี กรมป่าไม้ ร่วมเสวนาเชิงวิชาการ"เสือดำทุ่งใหญ่ ฯ ถูกฆ่าตาย คนไทยได้รับบทเรียนอะไร"

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.61 ที่บริเวณสวนพักผ่อน ร. 3 ถ.หลักเมือง เขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวหลังจากที่มาร่วมจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ ในหัวข้อ“เสือดำทุ่งใหญ่ ฯ ถูกฆ่าตาย คนไทยได้รับบทเรียนอะไร”ที่นายสมชาย พรหมชนะประธานชมรมคนรักเสือดำกาญจนบุรี จัดขึ้น ว่า บทเรียนที่คนไทยได้รับก็คือในปัจจุบันนี้ประเทศไทยของเรายังมีการล่าสัตว์ป่าทั้งในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ารวมทั้งพื้นที่ต่างๆที่มีสัตว์ป่าออกไปข้างนอก และการล่าไม่ใช่มีเฉพาะชาวบ้านธรรมดา แต่ปรากฏว่ามีคนเกือบทุกฐานะที่เมื่อมีโอกาสเมื่อไหร่ก็จะเข้าไปล่าสัตว์ แสดงให้เห็นว่าคนไทยเราบางส่วนแม้กระทั่งผู้ที่มีการศึกษา หรือผู้ที่มีฐานะดี ก็ยังขาดจิตสำนึก ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าของประเทศไทยของเรา ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเสือดำ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่ถูกฆ่าสะท้อนให้เห็นสังคมส่วนหนึ่งคนไทยส่วนหนึ่ง มีความรู้สึกหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศเพิ่มมากขึ้นจะเห็นได้ว่ากระแสที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นส่วนมาก และยังมีอีกในหลายจังหวัด ก็ถือว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่เริ่มมีความสำนึกในเรื่องของการที่จะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบ้านเมืองซึ่งถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมของบ้านเรานั้นเป็นทรัพย์สมบัติของคนทุกคน เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนจะต้องมาร่วมกันดูแลเอาใจใส่เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

ในปัจจุบันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และในส่วนของเรื่องสัตว์ป่า ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจในการที่จะดูแลรักษาตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากให้เจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการป่าไม้ หรือพนักงานพิทักษ์ป่า อยากให้เข้าไปสนใจประชาชนหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกับพื้นที่ที่ทำงาน โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการให้เข้ามารับทราบการทำงานหรือแผนการทำงาน รวมทั้งในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้เข้าใจและได้มีโอกาสเข้ามาดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านั้น ในส่วนเรื่องของเยาวชนในบ้านเรา ผมคิดว่ามีโรงเรียนหลายๆโรงเรียนได้ให้ความรู้ทางด้านทฤษฎีกับนักเรียนหรือนักศึกษาอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ทั้งสถาบันการศึกษาและโรงเรียนได้มีโอกาสพานักเรียนนักศึกษาได้เข้าไปสัมผัสภายในเขตอุทยานแห่งชาติฯหรือภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนของพวกเราได้เข้าใจ ในเรื่องของกระบวนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และจะได้ช่วยกันในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตต่อไป

สำหรับเหตุการณ์ที่คุณวิเชียร ชินวงษ์ ได้เข้าดำเนินการจับกุมดำเนินคดีกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนที่เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จากการที่ได้อ่านประวัติการทำงานของคุณวิเชียร ในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ทราบว่าเขาได้ทำหน้าที่ในเรื่องของการดูแลรักษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไม้ที่มีค่าที่ถูกลักลอบนำออกมาจากพื้นที่ป่า ซึ่งก็พบว่าเป็นคนที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และถึงแม้จะมีผู้เสนอค่าตอบแทนอะไรให้โดยมิชอบ เขาก็ไม่รับสิ่งนี้ก็ต้องขอชื่นชม รวมทั้งในเรื่องของคดีการล่าเสือดำที่ทุ่งใหญ่นเรศวรฯนี้ด้วย ซึ่งที่จริงแล้วคนที่เข้าไปเขาก็รู้จัก เพราะมีการประสานงานมาเพื่อขอเข้าไปศึกษาทางธรรมชาติnเพียงแต่ว่าเอกสารนั้นยังไม่เรียบร้อยเท่านั้นเอง แต่ก็ได้อนุโลมให้ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของคนไทยเรา เพราะมีคนรู้จักกันติดต่อมาเพื่อขอเข้าไปศึกษาทางธรรมชาติ ซึ่งทางคุณวิเชียรก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่เมื่อปรากฏว่าคนที่เข้าไปแล้วไปทำกระทำความผิด คุณวิเชียรก็ได้จับกุมดำเนินคดีโดยไม่มีการยกเว้นซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำกับคดีทั่วๆไป เมื่อพบการกระทำผิดก็จับกุมดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดา หรือคนมีฐานะก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมคุณวิเชียรในกรณีนี้ แต่เรื่องที่เราเป็นห่วงก็คือเราเกรงว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้ บางหน่วยงานอาจจะไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร จะสังเกตได้จากการที่มีประชาชนในหลายส่วนวิตกกังวลกันว่าการดำเนินคดีอาจจะไม่เป็นธรรม ซึ่งก็เป็นความวิตกกังวลของประชาชนส่วนใหญ่ที่คอยติดตามในเรื่องนี้

ถามว่าทำไมประชาชนส่วนใหญ่ถึงคิดแบบนั้น ก็เพราะเกิดจากการทำงานที่ไม่โปร่งใส และไม่มีการอธิบายวิธีการทำงานให้ทราบ เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เราไม่เคยได้ยินเจ้าหน้าที่พูดถึงว่าใครเป็นคนยิง ซึ่งวิธีการจะสืบหาว่าใครเป็นคนยิงมันมีทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ทำได้ สืบหาเขม่าดินปืนตามร่างกาย และเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ของทั้งสี่คนซึ่งก็ทำได้ แต่ก็ไม่มีการพูดถึง และไม่มีการสืบสวนว่าใครเป็นคนแล่เสือดำเพื่อเอาหนังไปใช้ประโยชน์ ซึ่งไม่มีใครพูดถึงเลย

แต่ว่าการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ก็สามารถทำได้ เช่นคราบเลือดที่ติดอยู่ตามเล็บ หรือติดอยู่ตามเสื้อผ้าของผู้กระทำผิด แต่เท่าที่ติดตามข่าวไม่มีการพูดถึงเลย จึงเป็นข้อวิตกกังวลของประชาชน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ประชาชนเขารักและหวงแหนในทรัพยากร เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา เขาก็ต้องคอยติดตาม เมื่อติดตามแล้วปรากฏว่าไม่มีการอธิบายถึงการกระทำผิดว่ากระทำผิดอะไรอย่างไร เขาจึงเกิดความสงสัย เมื่อเกิดความสงสัยเขาก็ต้องตั้งข้อสังเกตขึ้นมา เชื่อว่าการที่ประชาชนไม่สบายใจก็คงเป็นเพราะสาเหตุนี้"

ด้าน อ.ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า คือตอนนี้ถ้าลำดับตามขั้นตอนของคดีมันมาตามสเต็ปที่ค่อนข้างดี โดยเวลาก็ไม่ได้ช้าหรือเร็ว แล้วก็ตัวข้อหาที่สำคัญนั้นก็อยู่ครบ ตัวผู้ต้องหาสำคัญกับข้อหาเจตนาล่าสัตว์ป่าก็อยู่ครบ แต่ปัญหาก็คือว่ารายละเอียดในสำนวนคดี เช่นในบันทึกการจับกุมเราไม่ได้เห็นเลย เราก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาผิดกับคุณเปรมชัยได้มากน้อยขนาดไหน หรือจะมีใครมารับผิดแทนอย่างที่เขาว่ากันหรือเปล่า ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องของสำนวนคดี และก็เป็นเทคนิคทางด้านกฎหมายที่เป็นฝีมือของทนายความของฝั่งคุณเปรมชัยว่าเขาจะใช้เทคนิคต่างๆในการทำงานเหล่านี้ แต่ว่าตามขั้นตอนตามกรอบของคดี ก็มาได้ดีตามขั้นตอนตามที่สาธารณะชนช่วยกันจับตาดู สำหรับขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่ารวดเร็วใช้ได้ แต่ว่าโดยรายละเอียดแล้วเราก็ไม่รู้อะไร หนึ่งก็คือว่าภาษากฎหมายเขาก็มี ที่เขาใช้กันในวงการว่าตัดตอนผู้ต้องหาสำคัญ แต่เขาก็ไม่ได้ทำ ซึ่งสาธารณชนก็ได้ติดตามเป็นขั้นเป็นตอนมา แต่ทางมูลนิธิฯเองก็หวั่นใจมาโดยตลอดเพราะว่าเป็นผู้ที่มีผลทางการเงิน ดังนั้นเราก็ต้องให้ทางสาธารณชนคอยติดตามกันต่อไป

ส่วนจะมีเรื่องแพะเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่เชื่อว่าอาจจะมีแน่ เพราะเขามีลูกน้องไปด้วยอย่างนั้น ส่วนประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ไม่มี แต่เพียงแค่สงสัยว่าสำนวนคดีจะมีไปพลิกอะไรตอนที่ไปให้การในชั้นศาลหรือเปล่า ก็ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี กล่าวว่าโดยหลักการแล้วเราเป็นสถาบันการศึกษา นักศึกษาของเราเมื่อเขาจบการศึกษาออกไปแล้ว เขาจะต้องออกไปเป็นเยาวชนที่มีความสำคัญ และให้ความเคารพในเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองในทุกๆเรื่อง เช่นกรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นหนึ่งในกรณีศึกษา ซึ่งจะเห็นว่าอาจจะมีเรื่องของการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ก็ได้รณรงค์ให้นักศึกษาได้เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งในวันนี้ก็เช่นเดียวกันเนื่องจากมีการจัดเวทีเสวนาในเชิงวิชาการ ก็จะได้มีการพูดคุยถึงปัญหาและอุปสรรคของกฎหมายกฎระเบียบ ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นหลังจากที่เราทราบเรื่องของเวทีวิชาการเราก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้กับน้องๆนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฯ และก็ปรากฏว่ามีนักศึกษาจำนวนมากที่ให้ความสนใจและก็รู้สึกตื่นตัวในเรื่องที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะร่วมดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมเป็นพลเมืองที่ดี จะประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎระเบียบของกฎหมายบ้านเมืองของประเทศ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน ดีมากกว่าที่จะไปออกกฎระเบียบมาครอบคลุมเรื่องที่ควรจะปฏิบัติ หรือไม่ควรปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนของเราได้ในทุกๆระดับ เชื่อว่าประเทศไทยของเราก็จะเป็นบ้านเมืองที่น่าอยู่และน่าที่จะมีความสงบร่มรื่นมากขึ้น

โดยปกติแล้วถ้าเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่มีความอ่อนไหวทางมหาวิทยาลัยราชภัฎฯก็จะมีนักศึกษาที่อยู่ในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่นเรามีนักศึกษาที่เรียนด้านกฎหมาย เรามีนักศึกษาที่เรียนด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ฉะนั้นจะมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่คิดจะดำเนินโครงการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ เพื่อให้ประชาชน เพื่อให้นักศึกษา รู้จักสิทธิทางด้านกฎหมายบ้านเมืองที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนไทย ก็คิดว่าน่าจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเรื่องอื่นๆที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯก็จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงถึงเสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มที่