กนง.ห่วงกีดกันการค้าโลก ถ่วงเศรษฐกิจไทยเติบโต

กนง.ห่วงกีดกันการค้าโลก ถ่วงเศรษฐกิจไทยเติบโต

ธปท.แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมี.ค. ซึ่งกนง.มองเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศ มีรายละเอียดดังนี้

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการกนง. ระบุว่า ในการประชุมครั้งล่าสุด กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ขึ้นจาก 3.9% เป็น 4.1% แต่โดยรวมประมาณเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ

โดยเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ และการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าที่ประเมินไว้ กระทบต่อการค้าโลก และการส่งออกของไทย

ผลกระทบทางตรงจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีของสหรัฐมีน้อย ทั้งสินค้าบางประเภทที่ประกาศไปแล้ว เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องซักผ้า รวมถึงสินค้าส่งออกของไทยที่เข้าข่ายโดนเก็บภาษีดังกล่าวมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวม แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐฯและจีนประกาศจะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเพิ่ม

“แม้ผลกระทบทางตรงไม่มาก แต่อาจมีผลทางอ้อมต่อซัพพลายเชน เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิต และส่งผลต่อราคาสินค้า คณะกรรมการจึงขอให้ติดตามเรื่องนี้เป็นพิเศษส่วนโอกาสจะเกิดเป็นสงครามการค้าหรือไม่นั้น ก็ต้องติดตามต่อไป”
ปัจจัยต่างประเทศยังมีความความเสี่ยงจากเรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น

ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ต้องติดตามความเข้มแข็งของการใช้จ่ายในประเทศ แม้ว่าการบริโภคเอกชนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและสูง แต่รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาสินค้าเกษตร ขณะที่แรงงานบางส่วนมีรายได้ลดลง จากการย้ายไปสู่ภาคบริการในสาขาที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าการใช้จ่ายในประเทศอาจไม่ขยายตัวเท่าที่คาด หากกำลังซื้อยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร

นอกจากนี้ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังกดดันกำลังซื้อ เพราะแรงงานต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ โดยหนี้ครัวเรือนมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นบ้างตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบัตรเครดิต และหนี้รถยนต์ และยังต้องติดตามหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)รายใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นในบางหมวด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ยังปรับขึ้นในบางธุรกิจ เช่นเอสเอ็มอีค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์รายเล็กๆ

โดยในช่วงไตรมาส 4 สินเชื่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงไตรมาส 4 ขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 77.5% จากไตรมาส 3 อยู่ที่ 77.3% อย่างไรก็ตามหากตัดเรื่องซีซันนอลที่ในช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 77.2%

“หนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นเล็กน้อย เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และเป็นเรื่องของซีซันนอลซึ่งยังไม่เห็นอาการของภาวะเงินฝืด เพราะแนวโน้มการใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้น การลงทุนยังมีอยู่ ถ้าดูแนวโน้มคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวก็ยังสูงกว่าปัจจุบัน โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะขยับเข้าสู่กรอบเป้าหมายล่างที่ 1%ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้”

อีกปัจจัยที่ต้องติดตามคือ แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐมาก และยาวนานกว่าที่คาด จากเดิมคาดว่าผลกระทบจะหมดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่อาจจะยาวไปอีก 2-3 ไตรมาส หรือถึงสิ้นปีนี้

โดยเฉพาะผลกระทบต่อการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากไม่เคยดำเนินการตามระบบนี้มาก่อน ทำให้ต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามได้ตามแผน ยกเว้นบางโครงการที่อาจเลื่อนแผนการลงทุนออกไป เช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่ติดปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่

นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยทางด้านเสถียรภาพระบบการเงินไทยแม้ว่าปัจจุบันเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่สะสมเพิ่มขึ้นในบางจุด ประกอบด้วย 1. หนี้ครัวเรือนมีสัญญาณเร่งตัว ขึ้นบ้าง ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มยังด้อยลง2.ธุรกิจเอสเอ็มอี บางรายที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง มีความสามารถในการชำระหนี้และรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจด้อยลง

3. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น(search for yield)มีต่อเนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น(underpricing of risks)เพิ่มขึ้น เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF)ซึ่งขยายตัวสูงและกระจุกตัวในบางประเทศ ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งมีสินทรัพย์และเงินรับฝากขยายตัวสูง แม้จะชะลอลงบ้างหลังจากที่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกระดับ การกำกับดูแลให้เหมาะสมมากขึ้น

และ 4.ภาวะอุปทานอสังหาริมทรัพย์คงค้างในบางระดับราคาและบางพื้นที่ โดยเฉพาะอาคารชุด ระดับราคาต่ำกว่า3ล้านบาทที่ยังเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีระยะเวลาในการขายหมดนานขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการบางรายได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามอุปทานคงค้างอาคารชุดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง(คลองบางไผ่–เตาปูน) แม้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการปรับตัวโดยชะลอการเปิดโครงการใหม่และยกเลิก บางโครงการที่เปิดขาย แต่อุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำจะให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการระบายอาคารชุด คงค้างไปอีกระยะหนึ่ง

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ