'ไทยออยล์' ยื่นขอบีโอไอ ลงทุนโครงการซีเอฟพี

'ไทยออยล์' ยื่นขอบีโอไอ ลงทุนโครงการซีเอฟพี

"ไทยออยล์" เตรียมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในโครงการพลังงานสะอาด ขยายกำลังการกลั่น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน ชี้อาจเข้าข่ายโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านการกลั่นและปิโตรเคมี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ว่า โครงการพลังงานสะอาด(Clean fuel Project : CFP) ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ หลังจากได้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้รับเหมาเข้ามายื่นประมูลเพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งมีผู้มายื่น 2 กลุ่ม(Consortium) จากยุโรป และเอเชีย โดยคาดว่าจะสามารถตัดสินใจคัดเลือกได้ภายในกลางปีนี้

โครงการดังกล่าวเป็นการอัพเกรดน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น และส่งผลให้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมูลค่าการลงทุนขยายกำลังการกลั่นน้ำมันในระดับดังกล่าว ตามคาดการณ์ของตลาด คาดว่าจะอยู่ที่ราว 3.4-4 พันล้านดอลลาร์ โดยหากสรุปผู้รับเหมาได้แล้วจะมีการนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท เพื่อตัดสินใจการลงทุนในขั้นสุดท้าย(FID) ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
ทั้งนี้ โครงการ CFP อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพื่อจะขอรับสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แม้ว่าที่ผ่านมาโครงการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันจะไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ แต่เนื่องจากโครงการนี้ ตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการผลิตบางส่วนจะใช้สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตของโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 4 ของประเทศ ที่อาจทำให้มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการเสนอแพ็กเกจเพิ่มเติมเพื่อเจรจากับภาครัฐต่อไป

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินในปีนี้ คาดว่าจะดีต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว โดยในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น ยังมีทิศทางที่ดีเพราะยังไม่มีกำลังผลิตใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันยังเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มบริษัท ปตท. ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ อยู่ที่ราว 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าระดับเฉลี่ย 53.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีที่ผ่าน

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี สายอะโรเมติกส์ ทั้งผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) และเบนซีน ยังมีโอกาสถูกกระทบจากกำลังผลิตใหม่จากซาอุดิอาระเบีย และเวียดนาม ที่จะเข้ามาสู่ตลาด โดยในส่วนของ PX อาจจะกระทบไม่มากเพราะความต้องการใช้อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของเบนซีน ความต้องการใช้ยังเติบโตต่ำกว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเบนซินเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้บริษัทมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตนำเบนซิน ซึ่งมีมาร์จินไม่ดีมาผลิตเป็นน้ำมันเบนซินทดแทนได้

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจโรงกลั่น อยู่ที่ 71% ส่วนที่เหลือเป็นกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจอะโรเมติกส์ 11% ,ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 7% ,ธุรกิจไฟฟ้า 9% ซึ่งในระยะยาวมีเป้าหมายจะเพิ่มกำไรจากธุรกิจอื่นๆ เป็นระดับ 40-50%

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองโอกาสขยายตลาดน้ำมันไปยังกลุ่ม CLMV ที่มีความต้องการใช้น้ำมันในระดับสูง แม้ว่าจะมีคู่แข่งโดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันในเวียดนามที่เพิ่งเดินเครื่องผลิต แต่ก็ยังไม่เพียงกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเวียดนามยังเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ประกอบกับเป็นโรงกลั่นใหม่ใช้เงินลงทุนสูง จึงเชื่อว่าบริษัทจะแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำก็กว่าได้

นอกจากนี้ บริษัทยังไม่มีแนวคิดจะแตกมูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์) จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 10 บาทต่อหุ้น จากปัจจุบันราคาหุ้นของบริษัทยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 บาทต่อหุ้น