อาสาพาสุข

อาสาพาสุข

"สุขใจ เมื่อเป็นผู้ให้" คำกล่าวธรรมดาๆ แต่ลึกซึ้งและจำเป็นต่อสังคมไทย

..................

“การไปบ้านพักคนชราได้คุยกับคนแก่ในสิงคโปร์ ทำให้รู้ว่า พวกเขาเจอปัญหาอะไร ที่ทำให้มีความสุข หรือไม่มีความสุข” เอด้า จิรไพศาลกุล เล่าถึงชีวิตช่วงหนึ่ง ตอนเป็นนักเรียนทุนที่สิงคโปร์ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เธอหันมาทำงานจิตอาสาในเวลาต่อมา เธอเล่าเรื่องนี้ในงานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 5 เรื่อง สำนึกใหม่...สังคมไทย โดยทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคี

ให้...อย่างมีกลยุทธิ์ 

หากจะกล่าวว่า การเป็นจิตอาสา ไม่จำเป็นต้องสอน เป็นเรื่องของจิตสำนึก ก็ถูกต้องระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

เอด้า บอกว่า การสร้างพลเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องทำให้คนตระหนักรู้ในเรื่องรอบตัวมากกว่าเรื่องตัวเอง และเมื่อตระหนักแล้ว ก็ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง และสานต่อความคิดที่มีการริเริ่มไว้ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 “ถ้าใครมีีโอกาสไปสิงคโปร์ ก็จะเห็นภาพเด็กนักเรียนถือกระปุก ขอรับบริจาค แล้วได้สติกเกอร์ ซึ่งเด็กๆ ต้องทำกิจกรรมแบบนี้ทุกเทอม” เธอเล่าถึงกิจกรรมจิตอาสาที่เด็กๆ ลงมือทำ เพื่อก่อให้จิตสำนึกแห่งการแบ่งปัน

“เด็กอายุ 15-16 ปี เมื่อได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ก็จะรู้สึกถึงพลังของตัวเอง ซึ่งการทำอะไรสักอย่าง สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อย ซึ่งตอนที่เรียนที่นั่น เราเองก็มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนๆต่างชาติ พวกเขาก็อยากพัฒนาประเทศของตัวเองเหมือนกัน”

ทำงานจิตอาสาตั้งแต่เรียนหนังสือ และทำมาอย่างต่อเนื่อง จนเธอก่อตั้ง และเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่ม Thai Young Philanthropist Network (TYPN) รวมถึงเป็นกรรมการผู้จัดการ TaejaiDotcom แพลตฟอร์มที่เน้นการบริจาค เพื่อพัฒนาสังคมออนไลน์แห่งแรกและใหญ่สุดในประเทศไทย

“ทำงานเพื่อคนรุ่นใหม่มาสิบกว่าปี ทำให้เราเห็นความไม่ยุติธรรมในสังคม และเราทนไม่ได้กับความเสแสร้งบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ได้”

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนที่อยากทำงานเพื่อสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดิมๆ ชูป้ายประท้วงกลางถนน สามารถทำออกมาในรูปธุรกิจเพื่อสังคม  นำรายได้จากการขายสิ่งของบางส่วนมาทำงานเพื่อสังคม  ช่วยคนด้อยโอกาส ให้มีโอกาสทางการศึกษาฯลฯ

ไอด้ายกตัวอย่าง แพลตฟอร์มที่ทำร่วมกับองค์กรอื่นที่เรียกว่า TaejaiDotcom ชุมชนการให้อย่างมีกลยุทธิ์ว่า เป็นการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหาหลายอย่าง

“อยากจะผลักดันคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียดีๆ ได้ลงมือทำ หรือสานต่อความคิดการทำงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม”

การยิ้มครั้งสุดท้าย

ว่ากันว่าคนในแถบประเทศยุโรป ให้ความสำคัญกับงานจิตอาสามาก โดยมีข้อมูลยืนยันว่า คนในประเทศเดนมาร์กร้อยละ 40 เป็นจิตอาสาในกลุ่มและองค์กรประชาสังคม และร้อยละ 90 เป็นสมาชิกชมรมต่างๆ 

ส่วนข้อมูลจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกนต์ เบลเยี่ยม สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในยุโรปสี่หมื่นคนจาก 29 ประเทศ ยืนยันว่า คนที่เป็นอาสาสมัครมีแนวโน้มสุขภาพดีกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้รู้สึกกระตือรือร้น และยังลดความเสี่ยงจากความจำเสื่อมในวัยชราได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อสภาพร่างกาย ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน และโพรเจสเทอโรน เกิดความผ่อนคลาย ไม่เครียด (ส่วนหนึ่งจากwww.sciencedaily.com)

“เมื่อเร็วๆ นี้อาตมาได้ดูคลิปวีดิโอเรื่องหนึ่ง หญิงสาวคนหนึ่งร่ำรวย แต่ต้องไปหาจิตแพทย์ เพราะไม่มีความสุข” พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต กล่าว และเล่าต่อว่า หญิงคนนั้นรู้สึกว่า ชีวิตว่างเปล่า ไม่มีค่า อยากจะฆ่าตัวตาย หมอจึงเล่าเรื่อง แม่บ้านสูงวัยคนหนึ่งที่สูญเสียครอบครัวให้ฟังว่า

“เธอสูญเสียสามีจากโรคมาเลเรีย และลูกชายคนเดียวถูกรถชน ชีวิตแตกสลายไม่เหลือใครแล้ว กินไ่ม่ได้ นอนไม่หลับ คิดถึงการฆ่าตัวตาย และเธอจำไม่ได้ว่ายิ้มครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ จนวันหนึ่งระหว่างเธอเดินกลับบ้าน ก็มีลูกแมวตัวเล็กๆ เดินตาม จึงนำเข้าบ้าน เพราะอากาศหนาว แล้วให้นมกิน ลูกแมวก็นัวเนียข้างเธอ จนเธออดยิ้มไม่ได้ สักพักเธอก็รู้สึกว่า การที่เธอช่วยแมวทำให้เธอยิ้มได้ และเป็นยิ้มในรอบหลายเดือน

หากการช่วยแมว ทำให้เธอยิ้มได้ เธอก็เลยคิดว่า การที่ได้ทำอะไรดีๆ กับเพื่อนมนุษย์ ก็ทำให้เธอมีความสุข เธอก็เลยทำขนมปังไปให้เพื่อนบ้านที่กำลังป่วย เพื่อนบ้านก็ยิ้ม นับแต่นั้น เธอก็ตั้งใจทำดี ช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะช่วยได้ และทำให้กินได้ นอนหลับ มีความสุขที่ได้แบ่งปันให้คนอื่น”

 เรื่องที่พระไพศาล เล่า เพื่อให้เห็นว่า คนเราแม้จะมีเงินมากมาย แม้เงินจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความสุข แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

“การช่วยเหลือผู้อื่น มันคือความสุขที่ปราณีต ทำให้คนเราคลายทุกข์ได้”พระไพศาล กล่าว และเล่าอีกเรื่องให้ฟังว่า

“เพื่อนอาตมาคนหนึ่ง หลังจากเรียนจบใหม่ๆ เป็นมะเร็ง เธอก็รักษาจนหาย จากนั้น 7 ปีต่อมาเป็นมะเร็งอีก หนักกว่าเดิม หมอบอกว่า เธอจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี กัลยาณมิตรจึงชวนไปเป็นจิตอาสาช่วยเด็กที่ป่วยเรื้อรังและเด็กที่ป่วยระยะสุดท้าย หลังจากนั้นเธอมีความสุข ก้อนมะเร็งก็หายไปจากปอดของเธอ เธอได้พบว่า การช่วยเหลือผู้อื่นทำให้เธอสุขใจ และความสุขใจ ก็ทำให้ความสุขกายกลับมา”

 

สำนึกคน สำนึกเมือง

ส่วนอีกเรื่องราวของสำนึกรักบ้านเกิด คงต้องยกให้ ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น พยายามผลักดันเรื่องเมืองน่าอยู่ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก แต่เขาก็เป็นนักประสานความร่วมมือที่หายากในยุคนี้ โดยมีภาระกิจทำโครงการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเมือง

“ถ้าเป็นวิธีคิดแบบเก่า คิดอะไรได้ ก็ทำโครงการของบจากรัฐบาล แล้วเชิญรัฐมนตรีมาดูงาน แต่พอรัฐมนตรีมาบอกว่าไม่ชอบ " ธีระศักดิ์ เล่า และแสดงความคิดต่อว่า เหตุใดจึงใช้ดุลยพินิจตัดสินใจ แล้วยังบอกว่า ถ้าเมืองเชียงใหม่ยังไม่เกิด ขอนแก่นอย่าหวัง นั่นเป็นเพราะระบบราชการไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทุกอย่างต้องมาจากส่วนกลาง”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ระเบียบในประเทศนี้ ส่วนใหญ่เป็นข้อห้ามที่ทำให้การพัฒนาเมืองหยุดนิ่ง ทั้งๆ ที่ประกาศว่า นี่คือไทยแลนด์ยุค 4.0 แต่ยังใช้กฎหมายเก่าๆ สวนทางกับความเป็นจริง เราเชื่อมั่นว่า ถ้ามีการกระจายอำนาจได้จริง ปัญหาหลายเรื่องไม่ต้องไปถึงรัฐมนตรี อย่างเรื่องผักตบชวา ต้องให้นายกฯ มาจัดการด้วยหรือ แปลกประหลาดจริงเมืองไทย”

หลายปีที่ผ่านมา ประชาคมคนขอนแก่นหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ห้าเทศบาลเมืองขอนแก่น พยายามขับเคลื่อนเรื่องรถรางเบา LRT  เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อคนขอนแก่น พัฒนาทั้งคนและเมือง

 “สิ่งที่เราประสานงานไว้ก็คือ เราจะซื้อวิธีการและเทคโนโลยี นำมาผลิตที่ขอนแก่น เราอยากให้คนขอนแก่นมีงานทำ เราให้สถาบันการศึกษาในขอนแก่น จัดทำหลักสูตรระบบราง อยากให้เด็กขอนแก่นทำงานที่บ้านเกิด ถ้าทำเสร็จ ขอนแก่นได้ประโยชน์มหาศาล “ธีรศักดิ์ กล่าว

หลังจากเสนอไปหลายครั้งหลายคราว สุดท้ายเขาบอกว่า รัฐบาลอยากทำโครงการนี้

“ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นได้ อีกสิบสี่เมืองที่อยากทำ สามารถจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง โดยใช้ขอนแก่นเป็นโมเดล แต่ด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ ของระบบราชการไทย ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักหลายครั้งหลายคราว จึงต้องตามเรื่่องต่อไปเรื่อยๆ ”

ชีวิตที่มีความหมาย

“ผมคิดว่า อาจารยไพบูลย์ได้จุดประกายความดี ความงามให้พวกเรา” วรากรณ์ สามโกเศศ นักเขียน และอธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว

วันนั้นอาจารย์วรากรณ์นำเสนอเรื่อง ชีวิตที่มีความหมาย

“ผมบอกนักศึกษาหลายคนว่า ชีวิตคนเรามีชีวิตเดียว อายุ 18 ครั้งเดียว จะไม่หวนมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำได้ และอยากทำ ก็ทำให้มีความหมาย ถ้าเกิดมาแล้ว ไม่มีความหมายเลย น่าเสียดายมาก แล้วก็จากไปโดยไม่ทิ้งอะไรเลย ผมเชื่อว่า ชีวิตที่มีความหมายสำคัญมาก”

ตามประสาคนผ่านโลกมาเยอะ และเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง เขาบอกว่า ชีวิตที่มีความหมาย ต้องผนวกกับวิธีมองโลกด้วย

“ถ้าเรามองแต่ตัวเอง มันเล็กเกินไป คนเราต้องมองสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรา มองว่าสิ่งที่ทำมีผลกระทบต่อคนอื่นด้วย ถ้าจะใช้ชีวิตให้มีความหมาย คนเราต้องศรัทธาในความดี ความงาม ความจริง ถ้าไม่มีความจริง ความจริงใจและความซื่อสัตย์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะอยู่บนความลวง” อ.วรากรณ์ กล่าว  และว่า

“ถ้าจะแก้ปัญหาสังคม หรือเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องเริ่มที่ตัวเรา” 

...............................

((((สำนึกใหม่ คือ ไม่แบ่งแยก)))

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต

"กระแสความละโมบ เกิดขึ้นเพราะคนเข้าใจว่า ความสุขนั้นเกิดจากการมี การเสพ และการครอบครอง นั่นก็คือ เสพมากเท่าไหร่ ก็สุขมากเท่านั้น

จริงๆ แล้วความสุขมีหลายประเภท นอกจากความสุขจากการมี การครอบครองแล้ว ยังมีความสุขจากการกระทำ การช่วยผู้อื่น และเกื้อกูลผู้ทุกข์ยาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก จึงต้องชักชวนให้รู้จัก เพราะทำให้คนมีความสุขง่ายๆ ไม่พึ่งพิงวัตถุ และปัจจุบันคนจำนวนมากมีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ไม่มีความสุข

สถาบันทำวิจัยระดับโลก เคยระบุความสุขไว้ห้าประการ คือ คนต้องมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ,มีส่วนร่วมในชุมชน ,มีจุดหมายในชีวิต,มีสุขภาพกาย รวมทั้งฐานะการเงินที่ดี (เงินเป็นส่วนหนึ่งของความสุข แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)

ปัจจุบันเห็นได้ว่า คนในสังคมเป็นจิตอาสามากขึ้น ดังนั้นควรมีองค์กรที่รองรับคนอยากเป็นจิตอาสา 

ถ้าคนหันมาทำความดี ก็จะไม่เป็นทาสวัตถุ แม้ไม่มีเงิน ก็ไม่อิจฉาคนมีเงิน เพราะมีความสุขอยู่แล้ว แม้จะมีโอกาสคอรัปชั่น ก็ไม่ทำ

คนเราต้องมีสำนึกที่กว้าง มองว่าคนทั้งโลกเป็นพวกเรา แม้จะมีเชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน 

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะเป็นเหลืองและแดง อิสลาม พุทธ ไทย พม่า โรฮิงญา ฯลฯ

นอกจากเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรายังมีบรรพบุรุษร่วมกัน

การค้นคว้าทางยีน ตลอดจนความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการอพยพของมนุษย์ทั้งโลก ทำให้เราค้นพบความจริงที่น่าสนใจ เคยมีแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับยีน ได้ข้อสรุปว่า ชาวยุโรปทุกคนในวันนี้ ไม่นับคนที่อพยพเข้าไปอยู่ มีบรรพบุรุษคนเดียวกันเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ยิ่งกว่านั้น ถ้าสืบสาวไป 2000 ปีที่แล้ว คนทั้งโลกมีบรรพบุรุษคนเดียวกัน  

เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สถานภาพ เป็นสิ่งสมมติ ถึงที่สุดแล้วเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน นี่คือ สำนึกใหม่ เพื่อทานต่อกระแสความโกรธ เกลียด 

ตราบใดมนุษย์เห็นความต่างมากกว่าความเหมือน ก็จะเป็นปรปักษ์กันได้ง่าย ถ้าเรามองเห็นแค่ความต่าง ก็จะเห็นคนอื่นเป็นคนละพวกกับเรา เราจำเป็นต้องมีมุมมองใหม่ ต้องใจกว้างยอมรับความต่าง ไม่คิดแค่ว่า ข้อมูลหรือความคิดของตัวเองเท่านั้นที่จริง แม้ความคิดของเราจะถูก แต่ไม่ควรด่วนสรุปว่า ความเห็นผู้อื่นผิด

ทุกวันนี้เรายังยึดติดในความดีของเรา เราจึงมองคนอื่นที่ไม่ดีเหมือนเราคือ ศัตรู

จริงๆ แล้วศัตรูของมนุษย์ คือ ความโกรธ ความเกลียด ความหลง