หวั่น‘สงครามการค้า’ ลาม...สหรัฐเชือดไทย ‘อุ้มค่าเงิน’

หวั่น‘สงครามการค้า’ ลาม...สหรัฐเชือดไทย ‘อุ้มค่าเงิน’

บรรยากาศการค้าโลกที่ “ร้อนระอุ” จนเรียกได้ว่าเป็น “สงครามการค้า” โดยเฉพาะการห่ำหั่นกันระหว่าง “สหรัฐ-จีน” สองประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันไปมาชนิดไม่มีใครยอมใคร

สหรัฐ เปิดฉากก่อนด้วยการลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี โดย “โดนัลด์ ทรัมป์” เรียกเก็บภาษีนำเข้า เหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% แต่ยกเว้นให้กับประเทศพันธมิตร 6 ราย จนตลาดตีความกันว่า เป้าประสงค์การตั้งกำแพงภาษีดังกล่าวอยู่ที่ “จีน”

ถัดมาไม่นาน จีน เริ่มตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 128 รายการ โดย 120 รายการ ขึ้นภาษี 15% และอีก 8 รายการขึ้นภาษี 25% รวมมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์

อีก 2 วันถัดมา “สหรัฐ” เปิดฉากใหญ่ด้วยการ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% ใน สินค้า ,300 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และแถบจะในวันเดียวกัน จีน ก็ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 25% ในสินค้า 106 รายการ รวมมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่ากัน

สาเหตุที่ “สหรัฐ” ตั้งกำแพงภาษีโดย “มุ่งเป้า” ไปยัง “จีน” เนื่องจากสหรัฐต้องการลดการขาดดุลการค้าลง ซึ่งแต่ละปีสหรัฐขาดดุลการค้าจากทั่วโลกรวมกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการขาดดุลการค้าจากจีนสูงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

ประเด็นที่ทั่วโลกจับตาดูในขณะนี้ คือ นอกจากเป้าหมายใหญ่ คือ จีน ที่สหรัฐพยายามลดการขาดดุลการค้าลงโดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ แล้ว สหรัฐ อาจหันมาเล่นงานประเทศอื่นๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐด้วย

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีการวิเคราะห์จาก “สื่อ” และ “สำนักวิจัยเศรษฐกิจ” ในต่างประเทศว่า สหรัฐ อาจใช้ประเด็นเรื่องการ “บิดเบือนค่าเงิน” มากดดันประเทศผู้ส่งออกในเอเชีย ซึ่งนอกจาก 5 ประเทศ(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์) ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ “เฝ้าระวัง” ของสหรัฐในปัจจุบันแล้ว อนาคต “ไทย” อาจตกเป็น “เป้าหมาย” ของสหรัฐเพิ่มเติมได้เช่นกัน

กลางเดือนเม.ย.นี้ สหรัฐ จะเปิดเผยรายงานประเมินประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า(Currency manipulator) ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะประเมินจาก 3 องค์ประกอบ

1.มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์

2.มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

3.มีการแทรกแซงค่าเงินอย่างต่อเนื่อง และสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศด้านเดียวเกิน 2% ของจีดีพี

ปัจจุบันมี 5 ประเทศที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าระวัง เนื่องจากองค์ประกอบเข้าตามเกณฑ์ 2 ข้อ จากทั้งหมด 3 ข้อ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยเองก็เข้าองค์ประกอบดังกล่าว 2 ข้อ จาก 3 ข้อ แต่ ไทย ก็ยังไม่ตกอยู่ในบัญชีประเทศต้องเฝ้าระวัง เนื่องจาก ไม่เข้าเงื่อนไขสำคัญ คือ การเป็นประเทศ “คู่ค้าหลัก” ของสหรัฐ โดยเงื่อนไขนี้ สหรัฐ นับ 12 ประเทศแรกที่มีมูลค่าการค้ากับสหรัฐสูงสุด ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทั่วโลกหันมาจับตาไทยมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่ออกมา พบว่า ไทยเข้าเงื่อนไขของสหรัฐครบทั้ง 3 ข้อ โดยในปี 2560 ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีสูงถึง 10.4% ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6.5% ของจีดีพี และล่าสุด ไทยยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐราว 20.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ...เรียกได้ว่าเป็นเพียงประเทศเดียวที่องค์ประกอบเข้าเกณฑ์ของสหรัฐครบถ้วน

เวลานี้จึงเริ่มมีการตั้งคำถามกันว่า "ไทย" จะถูกสหรัฐขึ้น “บัญชีดำ” เป็นประเทศที่ “บิดเบือนค่าเงิน” เพื่อหวังผลทางการค้าหรือไม่? ...เรื่องนี้ต้องบอกว่าไม่มีใครทราบ เพราะต้องรอกระทรวงการคลังของสหรัฐเปิดเผยรายงานดังกล่าว ซึ่งจะประกาศในกลางเดือนเม.ย.นี้

ที่ผ่านมาไทยอาจรอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดังกล่าวมาโดยตลอด เพราะไม่เข้าเงื่อนไขเรื่องประเทศคู่ค้าหลัก แต่ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลกที่ร้อนระอุ ในขณะที่ สหรัฐ ต้องการลดการขาดดุลการค้าจากทั่วโลกลง “ไทย” จึงอาจกลายเป็นเหยื่อได้เช่นกัน ถ้าสหรัฐขยายเงื่อนไขเรื่องประเทศคู่ค้าหลักออกไป

“ศรพล ตุลยะเสถียร” ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) บอกว่า สศค. ได้ติดตามดูเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าที่ทำให้ไทยมีการเกินดุลกับสหรัฐ รวมไปถึงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม เท่าที่พบ แม้ไทยจะเกินดุลการค้ากับสหรัฐ แต่สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไป เป็นสินค้าที่สหรัฐไม่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ไทยจึงเหมือนคู่ค้าไม่ใช่คู่แข่ง ในทางกลับกันไทยยังเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาระบบต่างๆ จากสหรัฐ ที่สำคัญ การค้าไทยกับสหรัฐอยู่อันดับที่ 21 ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ค้าสำคัญ 12 อันดับแรก

ส่วนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เข้าดูแลค่าเงินในสถานการณ์ที่จำเป็นเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นการไปสวนกระแสค่าเงิน ทางสหรัฐเองก็คงไม่ตำหนิไทยในเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน

“อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า สินค้าที่ไทยเกินดุลสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐมาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่น่าจะเป็นผลทำให้สหรัฐต้องมาตั้งกำแพงภาษีกับไทย เพราะจะกระทบกับบริษัทของสหรัฐเองด้วย

“จุดที่สหรัฐจะแก้เกมการขาดดุลการค้า อาจไม่ได้อยู่ที่การตั้งกำแพงภาษี แต่เป็นเรื่องการเร่งให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น จะเห็นว่าตอน ประธานาธิบดีทรัมป์ มาเยือนเอเชีย ก็มีการเจรจาในจุดนี้ มองว่าน่าจะได้ประโยชน์แบบ วิน-วิน”

ธปท.แจงสหรัฐปัด‘บิดเบือนค่าเงิน’

ด้าน “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธปท. ยืนยันว่า ไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อหวังผลประโยชน์ในด้านการค้า และที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจพร้อมกับชี้แจงกระทรวงการคลังสหรัฐไปแล้ว โดยการเข้าดูแลค่าเงินบาทของไทย เป็นไปเพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกจากสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้าออกอย่างรวดเร็วของผู้ลงทุนต่างประเทศ ซึ่งธปท.หวังว่าสหรัฐจะเข้าใจ แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอการตัดสินของสหรัฐ

“การเข้าดูแลค่าเงินของเรา ทำเฉพาะช่วงที่เงินทุนไหลเข้าออกเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก จึงเป็นการดูแลไม่ให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงเร็วจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องปรับตัวไม่ทัน ไม่ได้มุ่งเอื้อประโยชน์ทางการค้า”

นอกจากนี้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “วิรไท” ยังได้ตอบคำถามนี้กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กด้วยว่า ไทยไม่ใช่ประเทศที่บิดเบือนค่าเงินอย่างแน่นอน เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 15% นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสกุลเงินเอเชียที่แข็งค่ามากที่สุด