ส่องโลกธุรกิจอียิปต์ กับ 'เถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร'

ส่องโลกธุรกิจอียิปต์ กับ 'เถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร'

ส่องโลกธุรกิจอียิปต์ กับ เถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร

“การทำการค้าต้องอาศัยความรอบคอบรอบรู้ รู้เขา รู้เรา ศึกษาตลาดและคู่ค้าอย่างถ่องแท้ เรียนรู้รสนิยมผู้บริโภค กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การทำการค้าก็เปรียบเสมือนการลงทุน มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ในทุกขณะ จึงจำเป็นที่จะต้องลงทุนลงแรงอย่างเต็มที่ ศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังปรึกษาและเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่จะทำให้เราก้าวต่อไปอย่างรอบคอบและมั่นคง แต่ที่สำคัญต้องไม่ย่อท้อหรือยกเลิกความตั้งใจจริงเสียก่อน”

นายเถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ณ กรุงไคโร ได้มาประจำการในอียิปต์ ก่อนหน้านี้เคยประจำการอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในตำแหน่ง อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ระหว่างปี 2553-2557) เล่าว่าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ คือ การให้บริการนักธุรกิจทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ได้รับทราบข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับคู่ค้า โอกาสทางการค้า กฎระเบียบทางการค้า ที่จะช่วยต่อยอดการดำเนินธุรกิจ

รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยที่เดินทางมาเจรจาการค้า และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในพื้นที่ การสร้างเครือข่ายทั้งกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสร้างเครือข่ายทางการค้า การเป็นตัวกลางเพื่อช่วยประสานไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหา/ข้อพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น Thai Select ในการโปรโมทร้านอาหารไทย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในพื้นที่ การพบปะผู้นำเข้าและการแสวงหาคู่ค้ารายใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ของไทยและและกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของอียิปต์ยังมีแผนงานที่จะจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าในระดับรัฐมนตรี ในปี 2561 เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ (Joint Action Plan) ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เช่น การพัฒนาด้านเกษตรและอุตสาหกรรม การส่งส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมการลงทุน การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนร่วมกันต่อไป

ในอนาคตเศรษฐกิจด้านการค้าระหว่างไทยและอียิปต์จะยังคงขยายตัวไปได้อีกมากอันเนื่องมาจากความเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันมาช้านานแล้วจะเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ให้รุดหน้าต่อไป กอปรกับความกระตือรือร้นของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายที่จะทำการค้าระหว่างกัน จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้ามากขึ้น

เศรษฐกิจในอียิปต์ Strategic Area เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในแอฟริกาตอนเหนือ ศักยภาพในการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ด้วยความตกลงเสรีทางการค้า จากข้อมูลสถิติการค้าของปี 2560 อียิปต์เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในตลาดแอฟริกาตอนเหนือด้วยสัดส่วนการค้า ราวร้อยละ 42 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ รองลงไปได้แก่ แอลจีเรีย (ร้อยละ 24) ลิเบีย (ร้อยละ 12) โมร็อกโก (ร้อยละ 8) และตูนีเซีย (ร้อยละ 6)

ในด้านการส่งออกอียิปต์ยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ด้วยสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกของไทยมายังภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือสินค้านำเข้าสำคัญของอียิปต์จากไทย- ผลิตภัณฑ์ยาง ปลาทูนากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นสินค้าสำคัญที่อียิปต์นำเข้าจากไทย คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียิปต์- ผลิตภัณฑ์เหล็ก ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช เส้นด้ายและเส้นใยประเภทต่างๆ โดยสินค้าเหล็กคิดเป็นสัดส่วนสูงสุดของการส่งออกจากอียิปต์ไปไทย ด้วยสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด

นอกจากนี้ไทยและอียิปต์ยังสามารถเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการค้าโดยการเพิ่มความหลายหลายของสินค้าที่ทำการค้า อาทิ สินค้ายาและเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และผลไม้ของอียิปต์ และสินค้าภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าเสื้อผ้า เครื่องประดับ และอาหารแปรรูปจากไทย ที่ต่างเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของแต่ละประเทศ รวมทั้งภาคบริการในสาขาต่างๆ (การก่อสร้าง บริการสุขภาพ การขนส่งและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ฯลฯ) และการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ซึ่งจะเป็นช่องทางการค้าใหม่ที่มีอนาคตเติบโตสูงต่อไป