'สมคิด' สั่งเร่งเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรเสริมจุดแข็งเศรษฐกิจประเทศ

'สมคิด' สั่งเร่งเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรเสริมจุดแข็งเศรษฐกิจประเทศ

“สมคิด” สั่งเร่งเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรเสริมจุดแข็งเศรษฐกิจประเทศ ย้ำเกษตรกรคือทรัพยากรสำคัญ เจ้าหน้าที่เกษตรต้องเป็นพี่เลี้ยงดึงเกษตรกรหัวก้าวหน้าช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสมอบนโยบาย “การขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ทั่วประเทศ ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น ไม่มีปัญหา และมั่นใจจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง พร้อมรับมือกับสถานการณ์และเศรษฐกิจโลกได้ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่วนหนึ่งพัฒนาความสามารถเชิงแข่งขัน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย แต่สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ แก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร เกษตรกรไม่ใช่ภาระ แต่เป็นทรัพย์สินสำคัญของประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ผ่านมาเกษตรกรรมเราไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ส่วนแบ่ง GDP น้อยเกินไป มีส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม หากเรายังไม่ทำอะไร คนส่วนใหญ่จะจนลงเรื่อย ๆ สังคมจะอยู่ไม่ได้อนาคตมูลค่าของเศรษฐกิจด้านดิจิตอลจะมีรายได้สูงกว่าเศรษฐกิจด้านเกษตรกรรมมาก ยังมีสิ่งท้าทายอีกมากที่ต้องทำในภาคเกษตรกรรม เราต้องไปสู่จุดที่ดีกว่าข้างหน้าโดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กระทรวงเกษตรฯต้องแบกรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ พวกเราทั้งหลายคือพระเอก มีภารกิจอันใหญ่หลวง ขอให้ภูมิใจ เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงเกรด A วันนี้เชื่อว่าเรามี รมว.กษ และ รมช.กษ. ที่แข็งแกร่ง จะช่วยนำความเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะทำอะไรไม่ได้เลยหากพวกเราข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ให้ความร่วมมือ เราต้องเปลี่ยนภาคเกษตรให้เข้มแข็ง ทันสมัย เกษตรกรรุ่นใหม่อยู่กับเกษตรกรรม เปลี่ยนความคิดว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีเกียรติความมั่งคั่งของภาคเกษตรไม่ได้อยู่ที่ราคาเพียงอย่างเดียว เราต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ที่ผ่านมาเรารดน้ำที่ใบเป็นการฉาบฉวย นับแต่นี้ต้องรดน้ำที่รากอาจจะใช้เวลาแต่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งต้องใช้ความอดทน โดยเน้น 5 มิติ ดังนี้มิติที่ 1 ให้ยึดศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักดำรงชีพ ปลูกฝังให้ซึมลึกในใจเกษตรกร มิติที่ 2 ไม่เอาการผลิตเป็นตัวนำ เอาการตลาดเป็นตัวนำ เป็นมิติใหญ่ เราต้องช่วยคิดให้ครบวงจร ข้อมูลต้องมีก่อน ทำอย่างไรสินค้าที่ปลูกให้ขายได้ เกษตรกรไม่อยู่ในสถานะที่เสี่ยงได้ มิติที่ 3 ว่าด้วยเกษตรกร เกษตรกรอ่อนเเอจะไม่สามารถทำได้ต้องให้ความรู้ใหม่แก่เค้ามีสินเชื่อสนับสนุน พร้อมให้ความรู้และโอกาส ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด สร้าง Smart Farmer ขึ้นมา

โดยมีคนอยู่ 1 กลุ่มจะรับสิ่งใหม่ ๆ ก่อน ใช้หลัก Innovation Adoption ต้องเลือกกลุ่มเรียนรู้เร็วเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เกิดการกระจายของ Innovation สินเชื่อต้องถึง ทำต้นทุน ดอกเบี้ยเงินกู้และปุ๋ย/ปัจจัยการผลิตให้ต่ำ และที่สำคัญคือเรื่องเทคโนโลยีต้องมี และเปลี่ยนความคิดเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการให้ได้ มิติที่ 4 e - commerce สินค้าเกษตร ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ปัจจุบันการค้าไม่มีพรมแดนแล้ว ต้องเชื่อมโยงตลาดโลกให้ถึงกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนในระดับพื้นที่ให้ได้ จากนั้น Logistic จะตามมาเอง มิติ 5 การท่องเที่ยวและบริการ การเกษตรต้องเชื่อมโยงกับท่องเที่ยวให้ได้ นโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง และท่องเที่ยวชุมชน การเกษตรและสินค้าวิสาหกิจชุมชนจะเป็นจุดขายที่สำคัญ จะมีการเชื่อมต่อคมนาคมที่สะดวกเช่นรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ จากเมืองหลักให้ถึงเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยว

“ประเทศไทยถ้าภายใน 3-4 ปีนี้ไม่พัฒนาตนเอง เราจะถูกคู่แข่งแซงเราไปแน่นอน ต้องร่วมมือร่วมใจกัน นักการเมืองกับข้าราชการ ต้องรวมพลังสร้างสรรค์บ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้า และ ขอให้เราภูมิใจกับการเป็นคนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่สำคัญที่สุดของทั้งหมดเป็นเรื่องการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ระหว่างกระทรวง ให้เกิดผลสำเร็จ” นายสมคิด กล่าว

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวเน้นย้ำในการกำชับให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เป็น coaching ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร20 โครงการ ในงบกลางปี 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสอดรับกับโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะต้องใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และยังได้กำชับ เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ให้กำกับการทำงานทุกโครงการจะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ต้องเชื่อมโยงกับโครงการเดิมที่ สานต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) หรือการพัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ