วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 เม.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (11 เม.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนลดลง

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 โดยนักลงทุนเชื่อมั่นว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนจะสามารถคลี่คลายลง และไม่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน กล่าวในงานพิธีเปิดการประชุม Boao Forum for Asia (BFA) ว่าจีนจะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์และภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆบางประเภท รวมทั้งเปิดกว้างการเข้าถึงตลาดจีน

+ ความตึงเครียดในตะวันออกกลางส่งผลต่อความกังวลอุปทานน้ำมันดิบ โดยประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศที่จะยกระดับการคว่ำบาตรอิหร่าน หลังจากที่อิหร่านสนับสนุนรัฐบาลซีเรียในการโจมตีประชาชนด้วยอาวุธเคมี

+ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนสนใจในการลงทุนในน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐ จะต่ำลงและดึงดูดนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นๆ มากขึ้น

-/+ ภายหลังจากตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐ (API) รายงานน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 429.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ จะปรับตัวลดลง 189,000 บาร์เรล จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์ที่ดีในอินโดนีเซียช่วยสนับสนุนตลาด อย่างไรก็ดี อุปทานในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากบังคลาเทศ และอุปสงค์ในช่วงฤดูร้อนอย่างไรก็ดี ตลาดยังคงโดนกดดันจากอุปทานที่อยู่ในระดับสูง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐ กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มี.ค. 61 ปรับลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล เมื่อ สู่ระดับ 425.3 ล้านบาร์เรล
  • ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคในเดือนมี.ค. รายงานโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยการปรับลดหลักๆ มาจากการแองโกลา ลิเบีย และเวเนซุเอลา

----------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999