สงกรานต์ไม่เห็นลูกหลาน เผยคนแก่เผชิญ 'เหงาเฉียบพลัน' แนะวิธีป้องกัน

สงกรานต์ไม่เห็นลูกหลาน เผยคนแก่เผชิญ 'เหงาเฉียบพลัน' แนะวิธีป้องกัน

ห่วงผู้สูงวัย เกิดอาการ "เหงาเฉียบพลัน" ช่วงสงกรานต์ไม่เห็นลูกหลานกลับบ้าน ชี้สถิติคนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้น จะเผชิญกับสถานการณ์ความเหงาเฉียบพลันได้ 1 ใน 10 คน แนะครอบครัวป้องกันก่อนสายเกินแก้

กรมสุขภาพจิต ห่วงประชาชนเกิดอาการเหงาเฉียบพลันช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีโอกาสเกิดทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ลูกหลานไม่ได้กลับไปเยี่ยมเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ผลวิจัยพบผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิดอาการนี้ 1 ใน 10 และ1 ใน 2 ในผู้อายุ 80 ปีขึ้นไป ชี้หากมองข้ามจะเป็นต้นตอโรคซึมเศร้าและโรคทางกายหลายโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง ติดเหล้า แนะวิธีป้องกันให้ทุกครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีค่า นึกเสมอว่ามีคนรอที่บ้าน ไม่เปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น หากกลับบ้านไม่ได้ให้โทรแจ้ง ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีญาติ แนะชุมชนจัดกิจกรรมอาทิรดน้ำดำหัว จะช่วยสร้างความสุขได้

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน 5 วันตั้งแต่ 12-16 เมษายน 2561 ว่า ถือเป็นช่วงขึ้นปีใหม่ของคนไทย เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความสุข สนุกสนานรื่นเริง ความอบอุ่น ความกตัญญู ระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีความสุขที่ได้พบปะพร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่จะมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านหรือมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดภาวะที่เรียกว่า"ความเหงาเฉียบพลัน " ( Acute loneliness) โดยจะมีอาการความรู้สึกโดดเดี่ยว น้อยใจ หงุดหงิด นอนไม่หลับ เศร้า รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ ไม่มีใครคิดถึง ไม่มีใครรัก อาการนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ลูกหลานไม่ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดสูงที่สุด

" จากงานวิจัย พบว่า ในผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้น จะเผชิญกับสถานการณ์ความเหงาเฉียบพลันได้ 1 ใน 10 คน หากอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะพบได้สูงถึง 1 ใน 2 คน พิษภัยของความเหงา หากปล่อยไปจะกลายเป็น ความเหงาเรื้อรัง (Chronic loneliness) เป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า และเป็นปัจจัยเสี่ยงการเจ็บป่วยทางจิตใจที่ส่งผลเกิดโรคทางกายหลายโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ภูมิต้านทานต่ำลง การนอนผิดปกติ ติดเหล้า โรคอ้วน การตายก่อนวัยอันควร ฯลฯ จึงไม่ควรมองข้าม" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตเชิญชวนให้ทุกครอบครัวให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของการป้องกันความเหงาเฉียบพลัน และช่วยกันดูแลผู้สูงอายุที่มีทั่วประเทศประมาณ 10 ล้านคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นพิเศษ ทั้งนี้ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมากที่สุดในวันสงกรานต์ ร้อยละ82 อยากให้ลูกหลานกลับบ้าน อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา รดน้ำดำหัว จึงขอให้ช่วยกันป้องกัน"ความเหงาเฉียบพลัน" มีคำแนะนำ 4 ประการ ดังนี้ 1.ให้นึกอยู่เสมอว่ามีคนรอคอยอยู่ที่บ้าน 2. ใช้เวลาแห่งความสุขที่อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่า3. มีกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ทุกวัย 4. หากไม่สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ อย่าเงียบเฉย ให้ติดต่อกลับบ้านพูดคุยไต่ถามสาระสุกดิบซึ่งกันและกัน จะทำให้ผู้ที่รออยู่ที่บ้านรู้สึกมีคุณค่า ไม่โดดเดี่ยว

ทางด้านนางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่าในกรณีที่ครอบครัวไม่สามารถกลับไปอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวิธีดูแลใจ คลายความเหงาด้วยตนเอง ดังนี้ 1..เข้าใจความจำเป็นที่ครอบครัวไม่สามารถกลับมาเยี่ยมในช่วงสงกรานต์ 2. ไม่เปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น 3. พยายามอย่าอยู่คนเดียวหรือคิดหมกมุ่น น้อยใจ 4. ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือเข้าร่วมกิจกรรมวันสงกรานต์ของชุมชน จะช่วยให้คลายความเหงาได้ หากมีความทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจ สามารถติดต่อปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลานดูแล หากชุมชนจัดกิจกรรมพิเศษในวันเทศกาลสงกรานต์ เช่นจัดพิธีรดน้ำดำหัว มอบของขวัญเล็กๆน้อยๆ แม้จะมีค่าไม่มาก แต่ให้ผลทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความสุขใจให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้อย่างดี และเกิดความรู้สึกมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน