ประมงอวนล้อมจับ จ.ภูเก็ต หยุดออกเรือประท้วงรัฐบาล

ประมงอวนล้อมจับ จ.ภูเก็ต หยุดออกเรือประท้วงรัฐบาล

เรือประมงอวนล้อมจับ จ.ภูเก็ต หยุดทำประมง หลังได้รับความเดือดร้อนหนักจากการออกกฎหมายรายวันไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เรียกร้องให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.61 บริเวณท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต กลุ่มผู้ประกอบการเรืออวนล้อมจับของจังหวัดภูเก็ต จำนวนประมาณ 30 ลำ ต่างนำเรือเข้าจอดเทียบท่า เพื่อรอดูท่าทีของรัฐบาล หลังมีการยื่นเรื่องขอให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมายกับเรือประมงอวนลาก และมีการนัดรวมพลหยุดเดินเรือพร้อมกันทั่วประเทศในวันนี้ (9 เม.ย.)

ขณะเดียวกันได้มีการนำแผ่นป้ายผ้าข้อความต่างๆ ไปติดไว้บนหัวเรือ อาทิ พวกเราชาวประมงเดือดร้อน, ท่านบีบเราตาย ท่านคลายเรารอด, ปลาไทยไม่กิน รัฐบวยอยากกินปลานิวเคลียร์, รัฐ รังแกประชาชนออกกฎหมายไม่เป็นธรรม, ไหนท่านบอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน,NGOสบายใจ เห็นพวกเราฉิบหายกันหมด, ชาวประมงอวนครอบปลากะตักเดือดร้อน!!เบื่อกฎหมายรายวัน, เราชาวประมงเหลือทนแล้ว, อย่านั่งเทียนออกกฎหมาย มาดูความเป็นจริงบ้าง ชาวประมงเดือดร้อน อย่าเอาในEUเป็นต้น

ด้านนางสาวดวงจันทร์ เอกคณะ และนางวาณี ศรีศุภวดี เจ้าของเรืออวนล้อมที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ในส่วนของชาวประมงนั้นพร้อมที่จะทำตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เหตุที่ต้องหยุดการทำประมงชั่วคราว และมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการออกกฎหมายที่เกือบจะเรียกว่ารายวันก็ว่าได้ และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวประมง ประกอบกับเมื่อถูกจับกุมจะมีโทษสูงทั้งปรับและยึดเรือ ดังนั้นออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมนั้นจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหว และอยากเรียกร้องให้มีการทบทวนข้อกฎหมายที่หยุมหยิม เช่น ห้ามแก้ไขรายงานหากเขียนผิด, การต้องเก็บสลิปการกดเงินเดือนของแรงงานไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เป็นต้น

สำหรับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในปัจจุบัน แยกได้คือ 1.การจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารและเก็บสลิปเอทีเอ็มเพื่อส่งรายงานเจ้าหน้าที่ PIPO, 2.การแจ้งเรือเข้า-ออก ต้องแจ้งเข้าก่อนเรือถึงท่า 2 ชั่วโมง และก่อนเรือออกจากท่า 2 ชั่วโมง เช่น หากเรือรายงานถึงฝั่งเวลา 07.00 น. ต้องแจ้งเวลา 05.00 น. จึงจะเข้าฝั่งตามเวลาที่กำหนดได้ แต่บางครั้งเวลาดังกล่าวยังไม่สามารถติดต่อเรือได้จึงทำให้ไม่สามารถเข้าฝั่งในเวลา 07.00 น. เพราะเวลาแจ้งเข้ายังไม่ครบ 2 ชั่วโมงตามกฎหมายและระบบ E-PIPO การแจ้งเรือออกก็เช่นกัน,

3. การแจ้งเรือออก หากลูกเรือหายไปหรือไม่สบาย ทำให้เรือไม่สามารถออกในเวลาที่กำหนดได้ เนื่องจากต้องยกเลิกการแจ้งออกในครั้งก่อน แล้วต้องรออีก 2 ชั่วโมง จึงจะแจ้งออกได้อีกครั้งทำให้เสียเวลาในการออกทำการประมง,4.ระบบติดตามเรือหรือVMSซึ่งปัจจุบันเครื่องที่ใช้อยู่มีราคา 20,000-30,000 บาทต่อเครื่องและมีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 1,500-2,000บาทต่อเดือน แต่ในปี 2562 บังคับให้เปลี่ยนเป็น GEN 2 ซึ่งมีราคา 50,000-70,000บาท และมีค่าบริการรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่จำเป็นในการเปลี่ยนและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ,5.เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานในการตรวจสอบเอกสาร ไม่มีความเที่ยงตรงทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่มาจากหน่วยงานเดียว แต่วิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน

6.การลงเวลาพนักงาน มีความยุ่งยากเนื่องจากต้องรายงานเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกครั้งที่เรือเข้า-ออกทำการประมง และเวลาพักในงานประมงทะเล ไม่มีความแน่นอนจึงมีความลำบากในการเขียนรายงาน, 7.การจัดทำสมุดบันทึกทำการประมงมีความยุ่งยาก เนื่องจากให้มีการเขียนทุกครั้งที่อวนลงน้ำ บางครั้งควรลงน้ำก็จริงแต่ไม่ได้ปลาจึงเขียนไม่ได้ และหากไม่มีการทำประมงก็ต้องเขียนลงสมุดบันทึกทำการประมง สมุดบันทึกทำการประมงห้ามแก้ไขข้อความซึ่งเป็นไปได้ยากเนื่องจากผู้ควบคุมเรือหรือไต๋บางคนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่คล่องจึงทำให้เขียนผิดแต่ไม่สามารถแก้ไขได้, 8.การจัดทำสมุดบันทึกทำการประมงสำหรับเครื่องมือเบ็ด ไม่มีความจำเป็นเพราะผู้ควบคุมเรือหรือไต๋ไม่ได้ตกและไม่ทราบได้ว่าลูกเรือตกปลาช่วง เวลาไหน พิกัดที่เท่าไหร่ เวลาเท่าไร เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวผู้ควบคุมเรือหรือไต๋บางคนนอนหลับพักผ่อน,

9.การให้แรงงานต่างด้าวเก็บเอกสารตัวจริงไว้กับแรงงานทั้งหมดหากเกิดสูญหายนายจ้างต้องเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด, 10.การให้จัดทำห้องน้ำห้องรับประทานอาหาร ห้องผ่อนคลายในเรือประมง เป็นไปได้ยากเพราะเรือประมงมีพื้นที่จำกัดและไม่สะดวกต่อการทำงาน, 11.แรงงานต่างด้าวรับเงินแล้วหนี มีหน่วยงานไหนที่สามารถคุ้มครองนายจ้างได้บ้าง เพราะทุกวันนี้มีแต่กฎหมายคุ้มครองลูกจ้าง, 12.การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มีความหละหลวม รับเรื่องแล้วไม่ปฏิบัติ เช่น เรือแจ้งเข้ามีเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้แต่ไม่ลงระบบ เมื่อไปแจ้งออกไม่สามารถแจ้งได้ เนื่องจากเรือยังไม่เข้าฝั่ง ความผิดนี้จึงตกมาที่ชาวประมง,

13.กฎหมายออกรายวันและบังคับใช้ทันทีซึ่งบางครั้งไม่มีการประชาสัมพันธ์กฎหมายที่ออกมาใหม่ แต่ความผิดก็ตกอยู่ที่ชาวประมง, 14.เรือตั้งแต่150ตันกรอสขึ้นไปต้องมีเรือชูชีพ ซึ่งเรือชูชีพมีราคาแพงและไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเรืออยู่ในน่านน้ำไทยไม่ใช่น่านน้ำต่างประเทศ, 15.กิจการประมงขาดแคลนแรงงาน จึงอยากให้เปิดจดทะเบียนแรงงานใหม่ เนื่องจากการทำ MOU มีราคาสูงและใช้เวลานาน, 16.การกำหนดวันทำการประมงที่อนุญาตให้ทำการประมง 255 วันต่อปี แต่ต้องจ่ายค่าแรง 365 วันต่อปี และ 17.การนำเรือข้ามฟากครองต้องรายงานส่งเอกสารแจ้ง PIPO ซึ่งมีความยุ่งยาก ทั้งๆ ที่เรือไม่ได้ออกทำประมงแค่ย้ายเรือไปลงน้ำแข็ง/น้ำหรือน้ำมัน