โฟมดับเพลิง ของดีจากเมล็ดยางฯ

โฟมดับเพลิง ของดีจากเมล็ดยางฯ

“โฟมดับเพลิง” จากของเหลือทิ้งในโรงหีบน้ำมันไบโอดีเซล ผลงานโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำหรับดับเพลิงกลุ่มก๊าซและน้ำมัน ประสิทธิภาพเทียบเท่าของนำเข้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เผยอยู่ระหว่างเจรจาในรายละเอียดกับภาคธุรกิจเอกชน คาดอีก 2 ปีออกสู่ตลาด

กากเมล็ดยางพาราจำนวนมากซึ่งมีองค์ประกอบของโปรตีนสูงถึง 28-30% เป็นของเหลือในโรงงานไบโอดีเซล ด้วยความเสียดาย “ผศ.ณัฐบดี วิริยาวัฒน์” คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมองหาวิธีใช้ประโยชน์หลังจากเสิร์ชพบงานวิจัยในต่างประเทศที่ใช้โปรตีนจากพืชน้ำมันไปผลิตเป็นสารดับเพลิง

เพิ่มค่าของเหลือทิ้งจากสวนยาง

ผศ.ณัฐบดีและคณะวิจัยเริ่มจากการพัฒนากระบวนการสกัดที่ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยสกัดโปรตีนออกจากกากเมล็ดยางพาราอบแห้ง จากนั้นใช้เวลาถึง 3 ปีพัฒนาสูตรโฟมโปรตีนกระทั่งประสบความสำเร็จและยื่นจดสิทธิบัตร

โฟมโปรตีนนี้เหมาะสำหรับเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซไวไฟชนิดต่างๆ ซึ่งพบว่ามีการใช้น้ำมันกันมากในครัวเรือนและสถานีบริการน้ำมันต่างๆ ไม่สามารถใช้น้ำในการดับ แต่สามารถดับได้ด้วยเคมีหรือสารดับเพลิงประเภทโปรตีนหรือโปรตีนสังเคราะห์ ซึ่งมีข้อเสียคือ โฟมโปรตีนสังเคราะห์มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง เฉลี่ย 1 ลิตรต่อ 322 บาท ฉะนั้น ทางเลือกหนึ่งในการผลิตคือ การสกัดดปรตีนจากพืชโดยเฉพาะเมล็ดยางพาราที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย

กลไกการทำงานของโฟมโปรตีนจะตัดออกซิเจนไม่ให้สัมผัสกับเปลวไฟ โดยทำหน้าที่คลุมไอระเหยของน้ำมันไม่ให้ระเหยเป็นเชื้อเพลิงลุกไหม้ และลดอุณหภูมิบริเวณผิวสัมผัสของน้ำมัน ซึ่งทำให้ปฏิกิริยาการลุกไหม้ของไฟไม่สามารถดำเนินการต่อไป

จากการศึกษาประสิทธิภาพ พบว่า โฟมโปรตีนดับเพลิงจากกากยางพารานี้ สามารถลดอัตราการปลดปล่อยความร้อน (Heat Release Rate) ได้ถึง 70% ช่วยลดอันตรายจากการแผ่รังสีความร้อนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าโฟมโปรตีนทางการค้าอื่นๆ ทั้งนี้ โฟมโปรตีนดับเพลิงที่ใช้ทั่วไปในบ้านเรานั้น เป็นโฟมโปรตีนสังเคราะห์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงมีต้นทุนสูงทำให้ราคาขายสูงตาม ด้วยเหตุนี้ โฟมโปรตีนจากกากเมล็ดยางพาราจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

“เมล็ดยางพาราที่มีอยู่มากในประเทศไทย ในเมล็ดยางพารานั้นมีโปรตีนอยู่มาก ทำให้เป็นวัตถุดิบต้นทุนต่ำ การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์สามารถทำราคาขายให้ถูกกว่าของนำเข้าได้เกือบเท่าตัว” นักวิจัย กล่าวและว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านการดับเพลิงให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด คาดว่าจะพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ในปี 2563

จุดเด่นอีกประการคือ ผลงานโฟมโปรตีนนี้จะไม่มีสารพิษที่เป็นก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เป็พิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีกด้วย ทำให้มีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นอุปกรณ์ดับเพลิงขนาดเล็กประมาณกระป๋องสเปรย์ ตอบโจทย์การใช้งานได้สะดวกในที่พักอาศัย คอนโดมิเนียมและห้องครัว เป็นต้น

นวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก

นอกจากนี้ ผศ.สุรชาติ สินวรณ์ หนึ่งในทีมวิจัยยังได้ต่อยอดแนวคิดอุปกรณ์ดับเพลิงนวัตกรรมไทย โดยพัฒนาสารดับเพลิงผงเคมีแห้งสำหรับต้นเพลิงประเภทไฟฟ้าและสารไวไฟ โดยเปลี่ยนวัตถุดิบหลักจากโปแตสเซียมแอมโมเนีย เป็นสารซิลิกอน พร้อมพัฒนาสูตรผงเคมีดับเพลิงที่สามารถทนความร้อนได้ถึง 3 พันองศาเซลเซียส

จึงอุดช่องว่างจากเดิมที่ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดไม่สามารถดับเพลิงประเภทนี้ ประสิทธิภาพไม่ดี ทนความร้อนสูงไม่ได้ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อผลักดันให้สามารถไปสู่ปลายทางที่เป็นกลุ่มผู้ใช้จริงในที่สุด

“เราต้องการพัฒนานวัตกรรมไทยจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ อาจเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือของที่มูลค่าต่ำหรือไม่มีมูลค่าเลย มาสร้างให้เกิดคุณค่าเพิ่มและการใช้งานที่มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีของไทย ลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาสูงจากต่างประเทศ และที่สำคัญ ประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าและต้นทุนที่ถูกกว่ามีโอกาสที่จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย” ผศ.สุรชาติ กล่าว