คฤหาสน์ติดป่าระวัง 'แลนด์สไลด์' ส่อต้องทำแนวกันไฟเพิ่ม!

คฤหาสน์ติดป่าระวัง 'แลนด์สไลด์' ส่อต้องทำแนวกันไฟเพิ่ม!

กรณี “บ้านพักตุลาการ” เชิงดอยสุเทพ ที่หลายคนบอกน่าจะเรียก “คฤหาสน์” มากกว่า “บ้าน” ดูจะยังไม่จบง่าย

ย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์การขอใช้ที่ดินผืนที่กำลังเป็นปัญหา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ออกมาจากทีมโฆษกรัฐบาลเอง ก็ยังมีคำถามที่น่าสนใจ เพราะข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ที่ดินผืนนี้เดิมเป็นของกรมป่าไม้ แต่มีสภาพเป็น “ป่าเสื่อมโทรม” กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้เพื่อฝึกกำลังพล มีการออกเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง” หรือ นสล.ให้ก่อน จากนั้นถึงจะไปขึ้นทะเบียนกับกรมธนารักษ์

ฉะนั้นที่มาของที่ดินจึงไม่ใช่ “ที่ราชพัสดุ” มาตั้งแต่ต้น และยังเคยมีคำสัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในกองทัพทำนองว่า ตลอดมาก็แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ จากนั้นทางศาลจึงมาขอใช้ต่อ ข้อเท็จจริงนี้ก็เลยไปพ้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16060/2557 ว่าด้วย "ที่ดินรกร้างว่างเปล่า" ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “ที่ราชพัสดุ” ประเด็นนี้ผู้เกี่ยวข้องคงต้องตอบคำถามกันชัดๆ อีกครั้งว่าตกลงสถานะของที่ดินเป็น “ที่อะไรกันแน่”

ขณะที่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ก็คือ การนัดเจรจา 3 ฝ่ายเพื่อหาจุดลงตัวแบบ “วิน-วิน” กับคำยืนยันจากทางฝั่งศาลว่า หลังจากนี้จะปลูกต้นไม้เพิ่ม และย้ำว่าบ้านพักที่สร้างขึ้นนั้นจะสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้...วลีนี้น่าสนใจ
คำว่า “อยู่ร่วมกับป่า” คือจะปลูกต้นไม้เพิ่ม ให้ป่ากลับมาเป็นป่าเหมือนเดิม โดยที่ไม่รื้อสิ่งปลูกสร้าง ทั้งบ้านและพื้นซีเมนต์ คำถามคือในความเป็นจริงแล้วทำได้หรือไม่

พิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ และมีประสบการณ์ด้านการปลูกป่ามานานหลายสิบปี ไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ว่า การสร้างบ้านในพื้นที่ป่า อยู่บนภูเขา ถึงแม้จะปลูกต้นไม้เพิ่ม ก็ไม่ทำให้พื้นที่กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ 100% หากจะให้พื้นที่กลับมาเหมือนเดิมเลย ต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด เพราะ

1.ป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติ เติบโตและสร้างตัวเองมานานนับร้อยๆ ปี อย่างป่าเชิงดอยสุเทพ ถือว่าเป็นป่าเบญพรรณ จะมีพวกไม้ผลัดใบนานาชนิดผสมกันอยู่ ถือว่าเป็นป่าที่มีคุณค่า เมื่อป่าไม้ถูกตัด หน้าดินถูกทำลาย เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นบ้านพัก ถึงแม้จะปลูกต้นไม้เพิ่ม ก็เป็นเพียงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่การฟื้นคืนสภาพป่า ฉะนั้นทุกฝ่ายไม่ควรหลงประเด็น
2.อย่างที่บอกว่าหน้าดินและป่าไม้ถูกทำให้หายไป วิธีการนำกลับคืนแบบ 100% มีวิธีเดียว คือรื้อสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด แล้วปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมัน หมายความว่า ตามปกติป่าไม้จะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 20-30 ปี และยิ่งหน้าดินถูกทำลายเพิ่ม ก็ต้องใช้เวลานานขึ้นไปอีก เพราะหน้าดินคือปุ๋ย คืออาหารของป่าไม้ หน้าที่ของคนอย่างเราๆ อาจต้องเข้าไปช่วยด้วยการหาพืชที่เป็นชนิดเดียวกันเข้าไปปลูก แล้วก็รอเวลาให้ระบบนิเวศเยียวยาตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อหน้าดินถูกทำลาย ป่าไม้หายไป เวลาฝนตกหนักๆ พื้นที่ตรงนี้อาจเกิด “แลนด์สไลด์” หรือโคลนถล่มได้ง่าย “ล่าความจริง” ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญว่า ในหน้าแล้ง หลายคนคงเคยเห็นข่าวว่าป่าแถบนี้มีไฟป่าเกิดขึ้นแทบทุกปี ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเพิ่ม “แนวกันไฟ” รอบๆ พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการด้วย ซึ่งอาจต้องตัดต้นไม้เพิ่มขึ้นอีก นี่คือข้อน่ากังวลที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักสำหรับโครงการนี้ แต่ไม่ว่าข้อยุติของปัญหานี้จะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้และคนรักป่ามองเห็นตรงกันก็คือ สังคมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายน่าจะช่วยกันทำกระแสนี้ให้ยั่งยืน เพราะนอกจากพื้นที่ที่กำลังมีปัญหาแล้ว หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า โซนภาคเหนือของไทย มีภูเขาหัวโล้นเยอะมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะช่วยกันปลุกกระแสอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นอย่างถาวร

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ