คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.35 จับตาตปท.แทรกแซงค่าเงิน

คาดเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.35 จับตาตปท.แทรกแซงค่าเงิน

กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.35 จับตาบัญชีประเทศ เฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงิน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.35  ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.22 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2.6 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรมูลค่า 8.5 พันล้านบาท ส่วนค่าเงินดอลลาร์สัปดาห์แรกของไตรมาสสองฟื้นตัวเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับขึ้นแม้ตลาดหุ้นผันผวนตามความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศข้อเสนอเก็บภาษีนำเข้า 25% จากสินค้าราว 1,300 รายการของจีน โดยจีนออกมาตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการประกาศรายชื่อสินค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าเช่นกัน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า ตลาดจะให้ความสนใจการเปิดเผยบันทึกการประชุมรอบล่าสุดของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ หลังประธานเฟดมีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจและส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากไม่ต้องการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยมากเกินจำเป็นในระยะข้างหน้า ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างปรับตัวดีขึ้น อนึ่ง ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐฯ นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นทั่วโลกและเข้าถือครองเงินเยนซึ่งมักถูกมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยในขณะนี้มาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้และต้องรอฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการซึ่งใช้เวลาอีกราว 2 เดือน จึงมีโอกาสสำหรับการปรับแก้ไข ส่วนจีนจะกำหนดวันบังคับใช้มาตรการภาษีโดยขึ้นอยู่กับวันที่มาตรการของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปริมาณธุรกรรมอาจเบาบางลงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเรายังคงจับตาบัญชีประเทศเฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงินจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่จะประกาศในกลางเดือนเมษายน สหรัฐฯ อาจจะใช้เป็นประเด็นกดดันประเทศผู้ส่งออกในเอเชียรวมถึงไทย หลังจากที่เคยขอให้เลี่ยงการทำให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการส่งออกกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธปท.ระบุว่าไทยพยายามดูแลการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อไม่ให้บั่นทอนศักยภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพื่อชิงความได้เปรียบด้านราคา