โปรดักส์แชมเปียน มก.วิจัยขายได้

โปรดักส์แชมเปียน  มก.วิจัยขายได้

แก้วมังกรพร้อมดื่ม แยมแก้วมังกร ข้าวเหนียวมูนกึ่งสำเร็จรูปและดักแด้ทอดกรอบปรุงรส ผลงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผ่านโครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ แปรรูปวัตถุดิบให้มีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ประกอบการ 3 รายเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผ่านโครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ สามารถแปรรูปวัตถุดิบในมือให้มีมูลค่าเพิ่มแถมยังส่งขายต่างประเทศได้สำเร็จ ทั้งแก้วมังกรพร้อมดื่ม/แยมแก้วมังกร ข้าวเหนียวมูนกึ่งสำเร็จรูปและดักแด้ทอดกรอบปรุงรส

ม.เกษตรฯ ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 รับเงินอุดหนุนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย (ทปอ.) 2 โครงการ คือ โครงการต่อยอดงานวิจัยออกสู่ตลาดผ่านโครงการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ 438 ล้านบาทและโครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ด้านเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรม 294 ล้านบาท สามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้ตามเป้าหมาย 80% คาดว่าปีนี้จะมีงานวิจัยที่ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ไม่ต่ำกว่า 20-30% จากทั้งสิ้น 119 ผลงาน แต่หากเกินกว่า 50% มีความเป็นไปได้ว่า ในปีหน้าจะจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานแก่ผู้ประกอบการเพื่อเจรจาธุรกิจเพิ่มเป็นปีละ 2 ครั้ง

โปรดักส์แชมเปียนในสวน

ผศ.สิริชัย ส่งเสริมพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีประสบการณ์การวิจัยกว่า 30 ปี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนานวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการน้ำ-แยมแก้วมังกร แก้วมังกรอบแห้งและลอยแก้ว เกิดจากโจทย์ของผู้ประกอบการสวนแก้วมังกร “วีดาฟรุต” ที่ต้องการเพิ่มค่าผลผลิตตกเกรดที่มีประมาณวันละ 1 ตัน แทนการส่งขายให้โรงงานแปรรูปในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ให้กลายเป็น “โปรดักส์แชมเปี้ยน” ของสวนเพื่อส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศ

“เราจึงได้ถ่ายทอดการทำน้ำแก้วมังกรและแยมแก้วมังกรสูตรไม่เติมน้ำตาล ซึ่งจดสิทธิบัตรแล้ว แก้วมังกรอบแห้งและแก้วมังกรลอยแก้ว ทั้งหมด 4 รายการ จากนั้นทางผู้ประกอบการได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นโทนสีชมพูและจำหน่ายในชื่อแบรนด์ Fruitaya"

ผลิตภัณฑ์แปรรูปนี้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ท้องตลาด ส่วนกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุและกลุ่มรักสุขภาพ เพราะแก้วมังกรมีใยอาหารและวิตามินสูง ถือเป็นบิ้วตี้ดริ้งที่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการขับถ่าย อีกทั้งได้ทดสอบกับผู้บริโภคแล้ว และผู้ประกอบการได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเพื่อส่งออกแล้ว จากนั้นค่อยกลับเข้ามาทำตลาดในประเทศ เนื่องจากเดิมส่งแก้วมังกรไปต่างประเทศ

ส่วนโครงการที่สองเป็นของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตและแปรรูปไหมอีรี่ออร์แกนิคอำนาจเจริญ ที่เข้ามาเรียนรู้วิธีการทำดักแด้ไหมอีรี่ทอดกรอบปรุงรส จากนั้นเมื่อมีความพร้อมด้านเครื่องจักรก็สามารถผลิตออกจำหน่ายภายใต้ชื่อ ภูอีรี่ สร้างรายได้ 8 หมื่นบาทต่อเดือน “โจทย์งานวิจัยเกิดจากผู้ผลิตสิ่งทอมาซื้อรังไหมจากชาวบ้าน แต่ตัวดักแด้ไม่ซื้อ เพราะไม่ได้ทำธุรกิจอาหาร ชาวบ้านรับประทานไม่หมด เนื่องจากมีปริมาณมากจึงต้องนำมาแปรรูปเพื่อแก้ปัญหา”

ข้าวเหนียวมูนกึ่งสำเร็จรูป

ส่วนโครงการที่สามเป็น ข้าวเหนียวมูนกึ่งสำเร็จรูป ที่บริษัท ฟาร์มเตย จำกัด ซื้อสิทธิในเทคโนโลยีซึ่งได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ทางผู้ประกอบการมีพื้นฐานมาจากการจำหน่ายข้าวเหนียวมูนสด แต่ต้องการแปรรูปให้เป็นกึ่งสำเร็จรูปเพื่อที่จะทำตลาดต่างประเทศจุดเด่นผลิตภัณฑ์นี้ คือขั้นตอนการบริโภคไม่ยุ่งยาก เพียงเทน้ำตามที่ระบุไว้แล้วนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ในอนาคตสามารถทำให้เมนูมีความหลากหลาย เช่น ข้าวเหนียวกะทิทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวผัด ข้าวต้มหุงสุกเร็ว ฯลฯ

“เหตุผลที่เน้นตลาดต่างประเทศ เพราะตลาดมีความต้องการมากกว่าตลาดในประเทศซึ่งมีข้าวเหนียวมูนสดจำหน่ายอยู่แล้วและหารับประทานง่าย ส่วนกลุ่มเป้าหมาย คือร้านอาหารไทยทั่วโลก เพราะเป็นเมนูของหวานที่ต่างชาตินิยมบริโภค หรืออาจวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต”

นักวิจัย กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมากว่า 30 ปี ได้เรียนรู้กับการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง บางคนประสบความสำเร็จ บางคนไม่ประสบความสำเร็จ เหตุสำคัญ คือ 1.ขาดพื้นฐานความรู้และเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมอาหาร 2. ทุนน้อย สายป่านสั้น เพราะการทำธุรกิจนี้สายป่านต้องยาว กว่าลูกค้าจะสั่งซื้อต้องใช้เวลานาน หากต้องสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท แต่ธุรกิจอาหารจะคืนทุนเร็วภายใน 1-3 ปี