คิดใหญ่สไตล์ 'ทราเวลไอโก'

คิดใหญ่สไตล์ 'ทราเวลไอโก'

อาจคิดต่างไปจากสตาร์ทอัพทั่วไปที่มักจะเดินบนหลักการ “โฟกัส” ค่อย ๆทำและทดลองไปทีละอย่าง

เพราะแนวคิดของ “อนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร” ก็คือ ถ้าอยากมั่นคงต้องทำธุรกิจ 3 ขา ที่แตกต่างกัน

"ถ้าขาใดขาหนึ่งขายไปเราก็ยังอยู่ได้ ธุรกิจที่เป็นขาแรกของผมก็คือ ไชโย โฮสติ้ง ให้บริการเช่าพื้นที่อินเตอร์เน็ต ขาที่สอง ก็คือทราเวลไอโก ทำด้านการท่องเที่ยว ส่วนขาที่สาม กำลังวางแผนจะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"

เขาเล่าว่าตั้งแต่ยังเป็นเด็กเขาถูกสอนมาให้ "คิดใหญ่" เอาไว้ก่อน ก็เลยทำให้“ทราเวลไอโก”  (TraveliGo) ที่ก่อตั้ง มีโปรดักส์มากถึง 6 ประเภท ถือได้ว่าเป็นทราเวลเทคที่ค่อนข้างจะครบเครื่อง คือเป็นผู้ให้บริการในการจองที่โรงแรมที่พัก, ตั๋วเครื่องบิน, รถเช่า ,ทัวร์ (ทั่วโลก) ,ตั๋ว (ฟุตบอล, ดิสนีย์แลนด์, ยูนิเวอร์แซลลฯลฯ) และ ประกันภัยการเดินทาง

"ถ้าทราเวลไอโกจะขายตั๋วเครื่องบินอย่างเดียวก็ไม่ต่างกับคนอื่น ซึ่งป้าของผมเขาอยู่ต่างจังหวัดและเปิดร้านขายของ ขายตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ขายจานชามไม้จิ้มฟันยันเสื้อผ้า ขายเสื้อตัวละ 80 บาทให้ผ่อนได้ 4 เดือนๆละ 20 บาท ซึ่งป้าก็สอนผมมาว่า เวลาที่ลูกค้าซื้อของไม่ได้มาจากความตั้งใจ แต่เพราะได้มาเห็น สนใจก็เลยซื้อ ถ้าผมมีแต่ตั๋วเครื่องบิน ลูกค้าก็จะซื้อได้อย่างเดียว แต่เรามีทุกอย่าง พอเขาคลิกเข้ามาอยาก
ดูราคาตั๋วเครื่องบินก็อาจจองโรงแรมไปด้วยก็ได้"

ที่มาของทราเวลไอโก ซึ่งหมายถึงฉันจะไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา อนุพงษ์เล่าว่าที่ปิ๊งไอเดียในเวลานั้นเพราะ
เขาได้รับโปรเจ็คจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท.ให้พัฒนาเว็บไซต์ “อะเมซิ่งไทยแลนด์” ซึ่งต้องทำการรวบรวมรายชื่อ
โรงแรมที่มีทั่วโลกกว่า 5 แสนแห่งเอามาไว้ในฐานข้อมูล 

“ตอนที่ตัดสินใจจะทำทราเวลไอโก ผมก็คิดแบบสตาร์ทอัพ ว่าจะต้องทำอย่างไรให้แตกต่าง ทำให้ไม่เหมือนคนอื่น ผมเลยมีถึง 6 โปรดักส์ ทำ
ให้ต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะเขียนซอฟท์แวร์ทุกอย่างให้ครบและทำการขายได้”

การสร้างความแตกต่างของเขาเป็นการคิดใหญ่ ทำใหญ่ตั้งแต่วันแรก เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะมีความคิดว่าเป็นเรื่องทำได้ง่าย ๆ แต่พอทำไป
ทำมาก็ทำให้เขารู้ว่ามันยากเย็นพอสมควร สังเกตุได้ว่าทราเวลเทคเจ้าดัง ๆก็มักเริ่มกันที่โปรดักส์เดียวก่อนและค่อยขยายไปทำโปรดักส์อื่นๆ

"การทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทำให้ผมใช้เวลาไปถึง 5 ปีในการพัฒนาระบบ ในการรวบรวมรายชื่อโรงแรม สายการบิน ถ้าสมมุติผมเริ่มที่สายการบินอย่างเดียวก็อาจใช้เวลาแค่ปีเดียวก็คงทำระบบเสร็จและเริ่มขายได้แล้ว แต่ถามว่าประเทศไทยจะมีใครทำแบบเราได้ไหม ตอบเลยว่าถ้าทำได้ง่าย ๆป่านนี้ก็คงมีคนทำกันเยอะแล้ว มันต้องใช้เวลา ใช้เงินเยอะ ใช้คนเยอะ"

ในระหว่างนั้นอนุพงษ์บอกว่าเขาได้ไปลงเรียนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเพื่อทำความเข้าใจในตลาดนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำเอารายละเอียด 
วิธีการทำงานไปคุยกับโปรแกรมเมอร์ว่าควรต้องออกแบบอย่างไร  

"ผมไปเคยคุยกับบริษัทไอทีหลายแห่งซึ่งก็เคยเจอปัญหาพัฒนาระบบจองโรงแรมไม่สำเร็จ ที่แม้ว่าจะมีโปรแกรมเมอร์เยอะมากก็ตาม นั่นเป็น
เพราะว่าเขาไม่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจท่องเที่ยว เช่นเดียวกัน บริษัทของผมเองที่ผ่านมาก็ทำธุรกิจเขียนเว็บและมีลูกค้ามาให้เราทำเว็บ
เยอะมาก ผมก็ให้ลูกน้องทำตลอดและก็ไม่เคยมีปัญหา แต่พอคิดมาทำเว็บของตัวเองกลับทำไม่ได้  มันเกิดจากความไม่เข้าใจในธุรกิจ โดยเฉพาะตัวเราเองซึ่งเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม เขากลับได้พบว่าพอทำระบบเสร็จพร้อมขาย ก็กลายเป็นว่ามีทราเวลเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลกเริ่มเข้ามาบุกตลาดเมืองไทย และมี
เงินหนาพอที่จะแข่งขันในเรื่องราคา ดังนั้นการคิดใหญ่ มุ่งให้ครบเครื่องของเขาก็อาจเข้ากับภาษิตที่ว่า “เหรียญนั้นมีอยู่สองด้าน”

ทว่าก็ไม่ได้เสียแรงเปล่า ในความเป็นจริงทราเวลไอโกเปิดขายบริการมาเป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว  และมียอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่
ปีแรกก็ทำยอดขายได้ถึง 22 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีที่สองซึ่งขายได้ 57 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปีที่สาม ยอดขายน่าจะเติบ
โตขึ้นถึง 3 เท่า หรือประมาณ 200 ล้านบาทเลยทีเดียว

"เรามีลูกค้าทั้งบีทูซีและบีทูบีซึ่งกลุ่มหลักจะเป็นบริษัทเอเย่นต์ คอปอเรท แต่เวลานี้บีทูซียังใหญ่กว่า เพราะเราเพิ่งเริ่มต้นบีทูบีได้ไม่นาน ผม
วางแผนจะให้ทั้งสองตลาด คือบีทูบีและบีทูซีโตคู่กันไป เพราะตลาดบีทูซีจะมีโลว์มีไฮซีซั่น ขณะที่บีทูบีไม่มี ทำให้ในช่วงโลว์เราจะมีรายได้มาเกื้อหนุนกัน"

ถามถึงเรื่องของกลยุทธ์การตลาด เขาบอกว่าถ้าเป็นบีทูบีก็จะมีเซลล์วิ่งเข้าไปติดต่อ แนะนำตัวกับลูกค้าโดยตรง และในส่วนของบีทูซี จะมุ่งเน้นในการหาพาร์ทเนอร์ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมทำโปรโมชั่นกับหลายๆธุรกิจ เช่นธนาคาร อนุพงษ์บอกว่าล่าสุดเขากำลังคุยกับบริษัททัวร์จีนเพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจองโรงแรมหรือสายการบินผ่านระบบของทราเวลไอโก 

นอกจากนี้ ในปีนี้ทาง ททท. ก็เปิดโอกาสให้ทราเวลไอโกได้เป็นผู้ซัพพอร์ตในเรื่องระบบจองโรงแรมใน 55 จังหวัดที่เป็นเมืองรอง ซึ่งททท.มีแคมเปญสนับสนุนอีกด้วย ในหมายเหตุว่าลูกค้าต้องจองโรงแรมที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องและเสียภาษีอย่างถูกต้องให้กับภาครัฐเท่านั้น จึงจะสามารถนำเอารายจ่ายที่เกิดขึ้นไปลดหย่อนภาษีได้

"ถือว่าตอนนี้แพลตฟอร์มของเราค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว  คือมีทั้งเว็บและแอพ ในปีนี้ผมวางแผนจะระดมทุนระดับซีรีส์เอ รอบนี้ขอแค่ 1 ล้าน
เหรียญเท่านั้น ซึ่งกำลังทำเอกสารและพูดคุยกับทางวีซีต่าง ๆอยู่ ผมอยากได้วีซีที่สนใจธุรกิจท่องเที่ยวจริง ๆไม่ใช่วีซีที่มีแต่เงิน นอกจากนั้น
ยังสามารถคอนเน็คเราไปยังตลาดที่น่าสนใจได้ด้วย"

ถึงบรรทัดนี้คงต้องย้อนไปที่แนวคิดข้างต้นที่ว่าด้วยเรื่องความมั่นคง ซึ่งมาจากการทำธุรกิจ 3 ขา ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของตัวอนุพงษ์เอง ตัวเขาทำธุรกิจที่เรียนจบมาโดยตรงก็คือซอฟท์แวร์เอ็นจิเนียร์ เริ่มจากไชโย โฮสติ้ง และขยายไปสู่ธุรกิจซอฟท์แวร์เฮ้าส์ จากนั้นก็ทำธุรกิจเสิร์ชเอนจิน และเป็นธุรกิจสุดท้ายนี่เองที่เขารู้สึกว่าโดนดิสรับอย่างรุนแรง จากนโยบายของกูเกิลที่เคยให้ทำเอสอีโอฟรีแต่ภายหลังได้เปลี่ยนให้มาใช้บริการกูเกิลแอดเวิร์ดซึ่งต้องเสียตังค์ เขาก็เลยต้องผันธุรกิจนี้มาเป็นสตาร์ทอัพ ก็คือทราเวลไอโก

"พอรู้ว่าธุรกิจจะไม่ยั่งยืน ทำต่อไปก็อาจเจ๊ง เราก็ต้องหาธุรกิจตัวอื่นทำ อย่างธุรกิจโฮสติ้งเองฐานลูกค้าในประเทศไทยมีแค่หลักแสน ขณะที่คู่แข่งที่ทำระบบพวกนี้มีเยอะมากและยังมีต่างชาตินำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆเข้ามาเต็มไปหมด ซึ่งเวลาลงเซิร์ฟเวอร์ทีก็หลายล้าน แต่มันใช้ได้แค่ 5 ปี จากนั้นมันก็เป็นแค่เศษเหล็ก ก็ต้องลงเงินตลอด"