นโยบายมาถูกทางแล้ว…วิจัยไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0

นโยบายมาถูกทางแล้ว…วิจัยไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0

ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีจากเนคเทคฉายภาพขีดความสามารถของประเทศไทย ผ่านตัวเลขการลงทุนวิจัยของภาครัฐและเอกชน พร้อมตั้งคำถามว่า "ใกล้ถึงThailand 4.0 แล้วหรือยัง" โดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเทคโนโลยี และปิดท้ายว่าไทยมาถูกทางแล้วแต่ต้องอดทนอีกนิด

คำถามว่า ขีดความสามารถของประเทศไทยใกล้ถึง Thailand 4.0 แล้วหรือยัง? ขีดความสามารถในการแข่งขันจัดอันดับโดย IMD ปี 2017 ไทย 27 จาก 63 ประเทศ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านเราอยู่อันดับที่ 3 ของโลก อันดับความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของไทยอยู่อันดับ 48 จาก 63 ประเทศ จะเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเป็นจุดอ่อน หากเราต้องการยกระดับให้ดีขึ้นเราจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมระดับสากล ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงถึงร้อยละ 4.2 ของ GDP และสูงที่สุดในโลก ญี่ปุ่นลงทุนร้อยละ 3.3 ของ GDP ประเทศจีนลงทุนประมาณร้อยละ 2 ของ GDP


เป้าหมายที่สำคัญด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศโดยมีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนา รวมทั้งประเทศร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP ภายในปี 2561 โดย 3 ปีที่ผ่านมาการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2559 มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.14 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.78 ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ หรือ GDP โดยที่ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังน้อยกว่าหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เช่น บริษัท Facebook ซึ่งลงทุนวิจัยปีละ 2.29 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าในปี 2559 ภาคเอกชนไทยมีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนารวมทุกบริษัทสูงถึงประมาณ 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศ หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 โดยที่ภาคการผลิตที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงสุดได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร มีการลงทุนสูงถึง 15,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ 12,000 ล้านบาทและอุตสาหกรรมปิโตรเลียม 9,000 ล้านบาท ภาคบริการที่มีการลงทุนวิจัยสูงสุดได้แก่ การเงินและการประกันภัย ประมาณ 5,000 บาท รองมาเป็นด้านการบริการวิจัยและพัฒนา 4,800 ล้านบาท และอุตสาหกรรมไปรษณีย์และโทรคมนาคม ประมาณ 2,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมค้าปลีกมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาประมาณ 5,000 บาท จำนวนบุคลากรวิจัยและพัฒนายังขยับเพิ่มขึ้นเป็น 17 คนต่อประชากร 10,000 คน


แต่อย่างไรก็ตามเพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ให้เป็นร้อยละ 1.5 ภายในปี 2564 และเป็นร้อยละ 2 ภายในปี 2579 และเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คน ภายในปี 2564 และเป็น 60 คนต่อประชากร 10,000 คน ภายในปี 2579 การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนา ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์และเมืองนวัตกรรมอาหาร เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย นโยบายหักภาษีเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาได้ 300 เปอร์เซ็นต์ โครงการนวัตกรรมประเทศไทย โปรแกรมวิจัยนวัตกรรม Spearhead Talent mobility Smart Visa ให้กับนักวิจัยต่างชาติ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเน้นความรู้ การหามาตรการช่วยทำให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมได้ง่ายมากยิ่งขึ้น startup Thailand ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) อดทนอีกนิดครับ นโยบายมาถูกทางแล้ว แต่ต้องยาวนานและต่อเนื่อง เอาใจช่วยครับ

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ