8 วิธีสังเกตธนบัตร ร.10 ป้องกันการปลอมแปลง

8 วิธีสังเกตธนบัตร ร.10 ป้องกันการปลอมแปลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผย 8 วิธีสังเกตธนบัตร ร.10 ป้องกันการปลอมแปลง

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดจ่ายแลกธนบัตรใหม่ (แบบ 17) 3 ชนิดราคา ได้แก่ 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท วานนี้ (6 เม.ย.) เป็นวันแรก ก็มีประชาชนได้ไปแลกที่ธนาคารต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำโปสเตอร์แนะนำวิธีสังเกตธนบัตรแบบใหม่ที่เพิ่งออกใช้ เพื่อระมัดระวังบุคคลไม่หวังดีคิดทำธนบัตรปลอม ซึ่งธนบัตรแบบ 17 นี้ ภาพประธานด้านหน้าเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้านหลัง จะเป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี


จุดสังเกตในธนบัตรนั้น มีอยู่ 8 แห่ง ดังนี้ 1. ลวดลายเส้นนูน ภาพตราประจำพระองค์ฯ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษร และตัวเลขแจ้งชนิดราคา จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ


2. ลายน้ำ พระสาทิสลักษณ์ และตัวเลขแจ้งชนิดราคามีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง


3. ภาพซ้อนทับ รูปพระครุฑพ่าห์ ด้านหน้าและด้านหลัง พิมพ์ในตำแหน่งที่ตรงกัน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างจะซ้อนทับกันสนิท


4. หมึกพิมพ์ชนิดพิเศษ ชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์จะเห็นเป็นประกาย เมื่อพลิกธนบัตรไปมา


5. แถบสี ฝังในเนื้อกระดาษ มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนสี และชนิดราคา 100 บาท จะเห็นภาพเคลื่อนไหว ภายในแถบมีข้อความบอกชนิดราคา สามารถอ่านได้เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง


6. ตัวเลขแฝง ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนไว้ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง


7. สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา รูปดอกไม้พิมพ์ด้วยลวดลายเส้นนูน แทนสัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาในอักษรเบรลล์ จะรู้สึกนูนสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ


และ 8. ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (UV) ลายประดิษฐ์บริเวณตอนกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคาและหมวดเลขหมายจะเรืองแสง ปรากฏเส้นใยเรืองแสงสีเหลือง แดง และน้ำเงิน ในเนื้อกระดาษ


8 วิธีสังเกตธนบัตร ร.10 ป้องกันการปลอมแปลง