กินหนำๆ บนดอยตุง

กินหนำๆ บนดอยตุง

ตามรอย 'สมเด็จย่า' ทรงพลิกฟื้น 'ตอยตุง' จากภูเขาหัวโล้นและพื้นที่ปลูกฝิ่น สู่ป่าไม้สมบูรณ์ แหล่งผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์การเกษตร คืนคุณภาพชีวิตให้ชาวไทยภูเขาและชุมชนบนดอยตุง

ดอยตุง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานางนอน ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,630 เมตร อากาศเย็นสบายจนถึงหนาวเย็นแบบเมืองหนาว และตั้งอยู่ใจกลางดินแดนที่ถูกเรียกว่า ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ อันลือลั่น

พ.ศ.2530 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จไปถึง ‘ดอยตุง’ ทรงพบว่าดอยตุงอยู่ในสภาพเขาหัวโล้น ชาวเขาและชาวบ้านบนดอยตุงมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจน ขาดโอกาสในการดำรงชีวิต ป่าไม้ถูกตัดทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ฉันจะปลูกป่าที่ดอยตุง”

ด้วยทรงเห็นว่า การมีป่าไม้ที่สมบูรณ์กลับคืนมา คือหนทางในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ขณะนั้น..‘สมเด็จย่า’ ทรงมีพระชนมายุ 87 พรรษา

และแล้ว โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ก็ได้ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2531

D1 พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายใน 'หอแห่งแรงบันดาลใจ' บนดอยตุง

"คนจะติดยาเสพติด หรือค้ายาเสพติด มีพื้นฐานมาจากความยากจนและขาดโอกาส ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาเป็นคนไม่ดี เพราะขาดโอกาส สิ่งที่ ‘สมเด็จย่า’ ทรงทำก็คือ เรื่องของการสร้างโอกาส และแก้ไขปัญหาความยากจน" ณัชวรรัศ ขันติสิทธิ์ ผู้จัดการส่วนกลยุทธ์และภาคีสัมพันธ์ สำนักงานโครงการพัฒนาดอยตุง บรรยายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ Tops Exclusive Trip : ดอยตุงสืบสานบันดาลใจ ความสุขกลางป่าแม่ฟ้าหลวง ได้รับฟังถึงพระราชปณิธานของ ‘สมเด็จย่า’

สมเด็จย่าทรงศึกษาจากโครงการในพระราชดำริต่างๆ ของ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ และได้ทรงนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากบนพื้นที่ดอยตุง หลักการหนึ่งที่ทรงเลือกใช้คือ ‘การปลูกป่าสามอย่าง’ ได้แก่ ป่าต้นน้ำ เพื่อให้เป็นป่าไม้คืนกลับมาสู่ประเทศ,  ปลูกป่ายังชีพ คือป่าไผ่และกล้วย เพื่อไม่ต้องไปตัดไม้ทำลายป่า และ ปลูกป่าเศรษฐกิจ

 “ป่าเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เพื่อทดแทนอาชีพการปลูกฝิ่นและค้าอาวุธ ไม้เศรษฐกิจที่เราเลือกก็คือ กาแฟและแมคคาเดเมีย เหตุผลที่เป็นพืชสองชนิดนี้คือ เขาบอกว่าพื้นที่ไหนปลูกฝิ่นได้ จะปลูกกาแฟได้ดี อาชีพปลูกกาแฟที่ดอยตุงคือทดแทนปลูกฝิ่น ชาวบ้านมีรายได้เสมอ หรือได้มากกว่าการปลูกฝิ่น เขาก็เลยเลือกปลูกกาแฟกับเรา” คุณณัชวรรัศ กล่าว 

D6 ณัชวรรัศ ขันติสิทธิ์, สุรศักดิ์ เสียงดี และ หลวง นามยี่ ทีมบรรยายแปลงป่าเศรษฐกิจนวุติ ไซต์ 1

การปลูก กาแฟ ต้องปลูกใต้ไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา ชาวบ้านดูแลกาแฟ จึงเท่ากับดูแลป่า ขณะที่ แมคคาเดเมีย เป็นพืชที่มีความใกล้เคียงกับพืชพื้นถิ่นที่เป็นไม้ยืนต้นอยู่เดิม เมื่อนำไปแปรรูป ทั้งกาแฟอาราบิก้าและแมคคาเดเมีย ต่างก็ได้ราคาสูง

ปัจจุบัน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ มี 4 ธุรกิจ คือ ผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และ ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว คือสวนแม่ฟ้าหลวง ดอยตุงลอด์จ(ที่พัก) และพระตำหนักดอยตุง

“กิจกรรม Tops Exclusive Trip ปีนี้เป็นปีแรกที่ท็อปส์พาลูกค้าคนสำคัญ ร่วมเปิดประสบการณ์อันน่าประทับใจที่โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งเป็นพื้นที่ทรงงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้ย้อนรำลึกถึงเรื่องราวการทรงงานนับตั้งแต่ปี 2531 สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม พร้อมพาชมแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าและแมคคาเดเมีย ผลผลิตชั้นดีไร้สารเคมี ซึ่งที่ผ่านมา ท็อปส์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์และผลผลิตของชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงนำมาจำหน่ายที่ร้านเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ยั่งยืน” ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ ผู้บริหาร เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมนี้

D17 ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์, ทีมเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘Tops Exclusive Trip : ดอยตุงสืบสานบันดาลใจ ความสุขกลางป่าแม่ฟ้าหลวง’ ณ ลานพฤกษาโอบ สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง

หนึ่งในกิจกรรม 3 วัน 2 คืน ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมทริปมีโอกาสลิ้มรสชาติผลผลิตการเกษตรดอยตุงแบบสากล คือดินเนอร์ท่ามกลางแสงดาวและสายลมหนาวโดย เชฟเอียน-พงศ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย เชฟและคุกกิ้ง กูรู ประจำเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์

"เมนูทุกอย่างเราพยายามใช้วัตถุดิบของดอยตุง อยากใช้ของต่างประเทศน้อยที่สุด เรานำวัตถุดิบบางส่วนกลับไปเตรียมที่กรุงเทพฯ มาก่อน เช่น หมูดำเหมยซาน เรานำไปบราย (brine) เป็นเทคนิคอเมริกัน เอามาทำเป็นหมูแฮมดองน้ำเกลือ มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายแดง เกลือเล็กน้อย น้ำ คล้ายการดองมะกอก เพื่อให้เนื้อหมูมีความนุ่ม มีรสชาติมากขึ้น" เชฟเอียน กล่าวถึงภาพรวมในการสร้างสรรค์เซตเมนู 4 คอร์ส สำหรับผู้ร่วมทริปพิเศษครั้งนี้

D7 เชฟเอียน-พงศ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย กับการเตรียมอาหารคอร์สแรก

D2 สลัดขาเป็ดกงฟี

ฃคอร์สแรก สลัดขาเป็ดกงฟี (Crispy Duck, Honey&Mustard Dressing, Seasonal Green) เชฟเอียนใช้เป็ดไทยที่มีวางจำหน่ายในท็อปส์ ต้มในน้ำมันประมาณห้าชั่วโมง แล้วนำมาทอดให้ผิวนอกกรอบ(duck confit) เสิร์ฟกับสลัดผักสดบนดอยตุง ราดเดรสซิ่งทำจากน้ำส้มสายชูข้าว(rice vinegar) แมคคาเดเมียอบน้ำผึ้งดอกแมคคาเดเมีย และแครอทออร์แกนิคที่สั่งจองล่วงหน้าสองเดือนจากเชียงใหม่ แต่งจานด้วยกลีบดอกไม้แนสเตอร์เตียม ที่เชียงใหม่กลีบดอกสีเหลือง แต่ที่ดอยตุงกลีบดอกสีแดงคล้ายกลีบกุหลาบ ซึ่งปีนี้การนำดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก

“ผมใช้แครอทจากเชียงใหม่ เป็นเบบี้แครอทพันธุ์สีส้ม สีเหลือง สีม่วง ยังไม่มีใครเคยปลูก เคยมีแต่ส่งมาจากออสเตรเลีย แต่ไส้แกนกลางเหนียวเคี้ยวไม่ออก เคยนำไปใช้แข่งในเชฟกระทะเหล็ก กรรมการบอก ‘เอียน ยูเอาอะไรมาให้ไอกิน’ แต่ปลูกที่ไทยไม่เหนียว มีขนาดป้อมกว่า ต้องจองล่วงหน้าเขาถึงจะปลูกให้เราได้ คนปลูกชื่อ ‘พี่เขียว’ เขาผสมเมล็ดพันธุ์แครอทเอง มะเขือเทศของเขาด้วยเหมือนกัน รสชาติอร่อยมาก เป็นมะเขือเทศที่มีที่เดียวในประเทศไทย เพราะบางเจ้ามะเขือเทศก็ไม่มีรสชาติ ผมแอบใส่น้ำตาลไอซิ่งนิดหนึ่งแล้วนำไปอบแบบฮาล์ฟเซมิดราย แค่เพียงดองน้ำมันมะกอกหน่อยหนึ่ง กระเทียมทุบลงไป รสชาติธรรมชาติมาก” เชฟเอียน กล่าวถึงอาหารคอร์สแรกที่เสิร์ฟขาเป็ดตุ๋นกงฟีทั้งขา เพราะถ้าหั่นขาเป็ดก่อนทอด ก็ไม่อร่อย เนื้อเป็ดจะบูดเบี้ยวไม่ได้รูปทรง ถ้าทอดแล้วหั่น เป็ดจะเย็น เพราะอากาศก็เย็นอยู่แล้ว

D3 ซุปนิวอิงแลนด์ชาวเดอร์ไก่

คอร์สที่สอง ซุปนิวอิงแลนด์ชาวเดอร์ไก่  (New England Chowder) ไก่ออร์แกนิคในซุปข้นขาว เห็ดภูฐาน แครอท เบคอนรมควันไม้แอปเปิ้ลเพิ่มรสชาติ ปรุงในน้ำสต็อกไก่ที่ปรุงจากหอมใหญ่ผัดไวน์ขาว

“จริงๆ อาหารจานนี้มาจาก แคลม ชาวเดอร์(clam chowder) หรือ ‘ซุปหอยข้น’ แต่ผู้ร่วมทริปหลายคนแพ้อาหารทะเลมีเปลือก จึงเลี่ยงเป็นเนื้อไก่ออร์แกนิค รสชาติครีมมี่ขึ้นมาจากจานแรกที่เปรี้ยวนิดๆ แผ่นกรอบที่ลอยบนหน้าซุป คือพาร์เมซานชีส โรยบนกระทะจะกรอบเองคล้ายเวเฟอร์ มีรสเค็มในตัว” เชฟเอียน อธิบาย

D4 สตูว์หมูดำบูร์กิญอง

คอร์สที่สาม สตูว์หมูดำบูร์กิญอง (Pork Bourguignon, Mushroom, Truffle Mashed) หมูดำเหมยซานตุ๋นซอสไวน์แดงเข้มข้น เสิร์ฟกับแครอท บีทรูท โรยเบคอน และมันฝรั่งบดผสมทรัฟเฟิล บูร์กิญองเป็นอาหารฝรั่งเศส เดิมนิยมปรุงด้วยเนื้อวัว เชฟเอียนแค่เปลี่ยนวัตถุดิบจากเนื้อวัวมาเป็นหมู และเปลี่ยนเป็นเนื้อไก่สำหรับผู้ไม่รับประทานเนื้อหมู 

“เรานำช่วงไหล่ของหมูดำเหมยซานไปบรายก่อนหนึ่งวัน แล้วนำมาใส่เตาอบนึ่ง 85 องศาเซลเซียส ห้าชั่วโมง เพื่อให้เนื้อหมูชุ่มนุ่ม” เชฟเอียน กล่าว

D5 เบลอมองเจนมอัลมอนด์

คอร์สที่สี่ 'ของหวาน' เบลอมองเจนมอัลมอนด์ (Blancmange Almond Milk) เป็นขนมเทรดิชั่นนัลของฝรั่งเศส ทำด้วยนมอัลมอนด์และแมคคาเดเมียดอยตุง ตัวขนมจึงมีสีขาว เสิร์ฟกับสตรอว์เบอร์รีสดดอยตุง คุกกี้งาขี้ม้อน และไอศกรีมวานิลลา 

ชิมอาหารโดยฝีมือเชฟเอียนท่ามกลางลมหนาวบนดอยตุงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นประสบการณ์ที่หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว

นอกจากได้ชิมฝีมือเชฟระดับสากล ผู้ร่วมทริปยังมีโอกาสชิมอาหารพื้นเมืองดอยตุงแสนอร่อยในรูปแบบการจำลองงาน เทศกาลสีสันแห่งดอยตุง หรือการออกร้านอาหารโดยชาวไทยภูเขา 6 เผ่า และชาวบ้านรอบดอยตุง ท็อปส์จัดให้แบบบุฟเฟ่ต์มื้อกลางวันบนสนามหญ้าของดอยตุงลอด์จที่ทิวทัศน์อีกด้านเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงาม และอากาศเย็นเจี๊ยบ

อาหารพื้นเมืองในงาน ‘เทศกาลสีสันแห่งดอยตุง’ เช่น ข้าวปุ๊กปิ้ง ข้าวเหนียวดำนึ่งแล้วตำใส่งาขี้ม้อน นวดให้เป็นแผ่นกลม นำไปปิ้งพอร้อน โรยด้วยน้ำตาลอ้อยผสมงาขาว ย่างต่อจนน้ำตาลอ้อยละลาย กินได้ทันทีร้อนๆ จากซุ้มอาหารชื่อ ‘สวนสุภาพ’, หมูทอดห่อใบชา หมูปรุงรสห่อด้วยใบชาอัสสัมแท้ๆ จากป่าดอยตุง นำไปทอด จะได้รสฝาดนิดๆ และกลิ่นหอมจากใบชา หมูทอดห่อใบกาแฟ เปลี่ยนจากใบชาเป็นใบกาแฟอาราบิก้า รสชาติแปลกใหม่ จากซุ้ม ‘ของกิ๋นคนดอย’, น้ำพริกมะเขือส้มและผักสด นำพริกของชาวอาข่า ทำจากมะเขือเทศที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น พริกขี้นก(เผ็ดและหอมกว่าพริกขี้หนู) หอมแดง เกลือ ผักชี ถั่วลิสง เผาบนเต่าถ่านแล้วนำมาตำรวมกัน

DD6 ข้าวปุ๊กปิ้งและไก่ดำตุ๋นสมุนไพร

DD4 ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระจากซุ้ม 'กินหนำๆ' สูตรไทใหญ่ และ ผักขมป่ายำกระเทียม(อาหารชาวอาข่า)

D10 หมี่จุ๊ม ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า เจ้าของซุ้มอาหารชื่อ ‘เต็มโตก’ กับผลิตภัณฑ์ที่เธอตั้งชื่อว่า ‘อาหม่อ’ คล้ายน้ำพริกคั่วแห้ง รสชาติเผ็ดร้อน ไว้คลุกข้าว และน้ำพริกมะเขือส้มกับผักพื้นบ้าน

DD1 ข้าวเหลืองเนื้อไก่และหมี่เหลืองผัด

D13 ชาวไทยภูเขาชนเผ่าลาหู่ ผู้ทำหมูทอดห่อใบชา-ใบกาแฟ

DD5 ข้าวกันจิ้นและน้ำผึ้งป่าดอยตุง

ข้าวกันจิ้น ทำจากข้าวสวย คลุกเคล้าและนึ่งกับเลือดหมู กินแกล้มหอมเจียวและพริกแห้ง หมี่เหลืองผัด เส้นหมี่คลุกเคล้าน้ำมันและงา โรยผักซอยและเครื่องปรุงรสเผ็ด จากซุ้มอาหารชื่อ ‘กินแล้วกินแหม’ แปลว่า..กินแล้วกินอีก, ก๋วยเตี๋ยวไตย น้ำซุปรสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอมจากมะเขือเทศ สูตรชาวไทใหญ่, ไก่ดำตุ๋นสมุนไพร ไก่ดำที่ดำถึงกระดูก ใช้ในประเพณีหลายชนเผ่า ตุ๋นกับสมุนไพรสูตรเข้มข้น เชื่อว่าดีต่อสุขภาพ เหมาะรับประทานในอากาศหนาว จากซุ้ม ‘อุ่นอ๊กอุ่นใจ๋’, ข้าวเหลืองเนื้อไก่ ข้าวเหนียวหุงด้วยน้ำซุปไก่ไทยใหญ่ผสมขมิ้น จากซุ้ม ‘ลำแต้ลำว่า’ เป็นอาทิ

นอกจากนี้ยังมี กล้วยหอมทอด กล้วยแขกทอด มันทอด จากซุ้ม ‘เป๋นทอดๆ’ และ  ไอศกรีมดอยตุง (Doi Tung Popsicle) ที่ใช้วัตถุดิบจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และในพื้นที่ เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เช่น รสชามะนาวน้ำผึ้ง ทำจากชาออร์แกนิคของสหกรณ์ดอยตุง รสกาแฟ ทำจากกาแฟดอยตุงคัดพิเศษผ่านกรรมวิธีสกัดเย็น(cold drip) รสมัลเบอร์รี รสเสาวรส รสสตรอว์เบอร์รี ล้วนทำจากผลผลิตปลูกในภาคเหนือของไทย มีขายเฉพาะร้านค้าดอยตุงบนดอยตุงเท่านั้น เมื่อมาแล้วก็ไม่ควรพลาดชิมแม้อากาศจะเย็นเพียงใดก็ตาม

DD2 ก๋วยเตี๋ยวไตย จากซุ้มอาหาร ‘กินหนำๆ’ แปลว่า กินเยอะๆ และไอศกรีมดอยตุง ใช้วัตถุดิบโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และในพื้นที่ภาคเหนือ บรรจุในพลาสติกแบบย่อยสลายง่าย

DD7 สินค้าที่ระลึกออกแบบโดย ญาดามณี น้อยเพ็ง ลูกหลานชุมชนดอยตุง และสินค้าแบรนด์ดอยตุงไลฟ์สไตล์

ปกติ เทศกาลสีสันแห่งดอยตุง จัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม ครั้งล่าสุดที่ผ่านมาจัดเป็นครั้งที่ 4 สนใจชิมอาหารเหล่านี้ มีงานครั้งต่อไป มองหาชื่อซุ้มอาหารข้างต้นได้เลย นอกจากอาหาร ก็ยังมีงานหัตถกรรมและงานฝีมือจากภูมิปัญญาชาวไทยภูเขาและคนดอยตุงรุ่นใหม่จำหน่าย

นอกจากได้เปิดประสบการณ์ชิมอาหารจากวัตถุดิบบนดอยตุง ผู้เข้าร่วมทริปยังมีโอกาสเยี่ยมชม หอแห่งแรงบันดาลใจ จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ-หลักปรัชญาชีวิตของ ‘สมเด็จย่า’ รวมทั้งพระราชธิดาและพระราชโอรสแห่งราชสกุลมหิดล อาทิ จดหมายลายพระหัตถ์ของ ‘พระบรมราชชนก’ ทรงขออนุญาตหมั้น ‘สมเด็จย่า’, พระตำหนักดอยตุง ที่ประทับและที่ทรงงานของ ‘สมเด็จย่า’ เพื่อพลิกฟื้นป่าไม้บนดอยตุงให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง 

คุณภัทรพร ผู้บริหารเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ยังนำผู้เข้าร่วมทริปเดินทางไปมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคให้กับทหารที่ ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ และชมความงาม สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง จุดสูงสุดของเทือกเขานางนอน พื้นที่ 35 ไร่ ร่มรื่นและงดงามด้วยดอกรักเร่หลายสายพันธุ์ เดิมเป็นเขาหัวโล้นและพื้นที่ปลูกฝิ่น เมื่อ ‘สมเด็จย่า’ ทรงเริ่มด้วยการให้ปลูกป่าและจัดทำเป็นสวนรุกขชาติ เกิดการจ้างงานชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นเพื่อดูแลสวนดอกไม้ เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาถึง เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพตามมา และปิดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดในที่สุด

รวมทั้งการผจญภัยเล็กๆ กับกิจกรรมใหม่ ดอยตุง ทรี ท็อป วอล์ค (Doi Tung Tree Top Walk) หรือ ‘สะพานเดินเรือนยอดไม้’ การเดินบนสะพานไม้ที่ขึงเชื่อมระหว่างยอดต้นไม้ที่สูง 10-20 เมตร ระยะทางประมาณ 300 เมตร ตื่นเต้นและระทึกใจตรงสะพานไม้สามารถแกว่งไกวไปตามจังหวะก้าวเท้า กิจกรรมนี้อยู่ภายใน ‘สวนแม่ฟ้าหลวง’

DD8 ดอยตุง ทรี ท็อป วอล์ค (Doi Tung Tree Top Walk)

ความงดงามของ ‘ดอยตุง’ วันนี้ ทั้งภูมิประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ล้วนเกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริและปรัชญาของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง

 พ.ศ.2546 โครงการพัฒนาดอยตุง ได้รับการยกย่องจาก ‘สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ’ ให้เป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของโลก ที่สามารถแก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติด ด้วยการบรรเทาความยากจนและการพัฒนาอย่างมีบูรณาการ

ประเทศไทยมิอาจลืมสตรีวัย 87 ปีในวันนั้น

--------------------------------------------

ภาพ : คเณศ เล็กพงศ์, วลัญช์ สุภากร