WHA สั่ง WHAUP ใส่เกียร์ เร่งภารกิจ 'โซลาร์รูฟท็อป'

WHA สั่ง WHAUP ใส่เกียร์ เร่งภารกิจ 'โซลาร์รูฟท็อป'

กลุ่มสาธารณูปโภคเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำ หนึ่งใน 'ดาวเด่น' คงยกให้ 'ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์' สะท้อนผ่านกองทุนสอยหุ้นเข้าพอร์ต 'วิเศษ จูงวัฒนา' มือปืนรับจ้าง ส่งซิกบริษัทแม่เสิร์ฟโจทย์ด่วน เร่งเพิ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อปดันรายได้โต

หลังจาก บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA เดินหน้าสร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ด้วยการผลักดัน บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP ซึ่ง บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ในฐานะบริษัทในเครือ WHA ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 68.86% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2560 

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า 'หุ้นWHAUP' กลายเป็นหุ้น 'ดาวเด่น' ที่ได้รับความสนใจของเหล่านักลงทุนมากขึ้น สะท้อนผ่านนักลงทุนสถาบันในและต่างชาติเข้ามาเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นมากขึ้น อาทิ กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล , บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) , H-INTERNATIONAL (SG) PTE.LTD. , บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด , กองทุนเปิด ไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นอยู่ที่ 2.15% , 1.37% , 1.14 , 0.69% และ 0.65% ตามลำดับ  

'เมื่อจุดเด่นของ WHAUP เป็นทั้งหุ้นที่รับความผันผวนได้ดี (Defensive Stock) และยังกลายเป็นหุ้นที่เติบโต (Growth Stock) ในระยะยาวไปพร้อมกัน จึงกลายเป็นเสน่ห์ให้กับหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค...!!'  

'วิเศษ จูงวัฒนา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP บอกสตอรี่ผลักดันการเติบโตในอนาคตให้ฟังว่า WHAUP ในฐานะบริษัทลูกของ WHA ปัจจุบัน WHAUP ถือเป็นหนึ่งในแม่ทัพใน 'ธุรกิจสาธารณูปโภค' ให้กับกลุ่ม WHA เดินหน้าเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจหลักในกลุ่มอย่างธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน WHAUP ให้บริการด้านจัดหาน้ำ , บำบัดน้ำเสีย , ลงทุนในโรงไฟฟ้า และไฟฟ้าจากชีวมวล โดยได้รับ 'โจทย์ใหญ่' จากบริษัทแม่ให้เป็นบริษัทที่ปูทางลงทุนใน 'ธุรกิจพลังงานธรรมชาติจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์รูฟท็อป' ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ-เหมราชให้ได้มากที่สุด เพื่อปักธงผู้นำในพื้นที่ของตัวเองก่อน 'โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก' (EEC) จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในอนาคต  

โดยในปี 2561 บริษัทวางแผนธุรกิจลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อป มีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าให้มากที่สุด ล่าสุดมีการคุยกับลูกค้าไปกว่า 10 รายแล้ว แต่ยังไม่พอเพราะกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่หลังคาประมาณ 10,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเห็นชัดเจนในปีนี้แน่นอน  ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการโครงการนำร่องโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานคลังสินค้าของบริษัทไปแล้ว รวมทั้งได้ใบอนุญาตขายไฟฟ้าในต้นปี 2561 ประมาณ 1 เมกะวัตต์ 

เขา บอกว่า ปัจจุบัน WHA มีนิคมฯ อยู่จำนวน 8 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอีอีซี และอีก 2 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อไป รวมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้นกว่า 45,000 ไร่ และมีพื้นที่รอขายอีกกว่า 10,000 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)   

ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของนิคมฯ ของบริษัทมีพื้นที่หลังคารวมกัน 2 ล้านตารางเมตร  ซึ่งได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไปแล้วเพื่อนำร่องไปก่อน แต่ลูกค้าทั้งนิคมฯ มีพื้นที่มากถึง 8-9 ล้านตารางเมตร และยิ่งเฉพาะในเขตอีอีซีมีลูกค้าถึง 700 ราย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก รวมทั้งมีการแข่งขันที่สูงมากด้วย 

สะท้อนผ่านการที่ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้บริการของใคร? เพราะว่ามีผู้ประกอบการที่ลงทุนในโซลาร์รูฟท็อปหลายราย ประกอบกับงานก่อสร้างไม่ได้ลำบากเช่นในอดีต ซึ่งตอนนี้มีเทคโนโลยีดีขึ้น ต้นทุนก่อสร้างถูกลง ทำให้เกิดการแข่งขันกันเรื่องราคา

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว เขาบอกว่า ราคาถูกไม่ใช่ปัจจัยในการเลือกของลูกค้าทั้งหมด เนื่องจาการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปต้องมีการติดตั้งบนหลังคาโรงงาน หากเลือกราคาถูกแต่คุณภาพไม่ดี ส่งผลกระทบต่อโรงงานได้ ยิ่งหากโรงงานที่มีสายการผลิตสำคัญๆ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะส่งผลเสียมากกว่า ดังนั้น โรงงานคงไม่อยากจะมีความเสี่ยงตรงส่วนนี้ 

'การที่บริษัทเป็นเจ้าของพื้นที่ ทำให้มีจุดแข็งจากการเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการครบวงจร นั่นคือ เรามี WHA ทำนิคมฯ ส่วน WHAUP ทำธุรกิจสาธารณูปโภค จุดเด่นตรงนี้ทำให้เราสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าได้ง่ายจากการให้บริการที่ดีมาตลอด ลูกค้ารู้จักเราสามารถดูและและจัดการได้หากมีปัญหา'  

ขณะที่ 'ธุรกิจลงทุนโรงไฟฟ้า' นับตั้งแต่ปี 2561 บริษัทมีการรับรู้กำไรจากเงินลงทุนโรงไฟฟ้าเข้ามา 4 แห่งเต็มปี หลังจากได้มีการรับรู้รายได้บ้างส่วนมาแล้ว และในปีนี้จะมีการรับรู้กำไรจากการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 แห่ง เป็นทั้งหมด 5 แห่ง 

สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะยังไม่เห็นในปีนี้ แต่จะเข้ามาในปี 2562 จำนวน 2 แห่ง รวม 32 เมกะวัตต์ ทำให้ปลายปีหน้าบริษัทจะมีกำลังไฟฟ้ารวม 547 เมกะวัตต์  จากปัจจุบัน 510 เมกะวัตต์  จากปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 15  โครงการ แบ่งเป็นในไทย 14โครงการ และอีกหนึ่งโครงการในประเทศสปป.ลาว โดยจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2,540 เมกะวัตต์ในปีหน้า โดย WHAUP มีสัดส่วนการถือครองกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 543 เมกะวัตต์  

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 11 โครงการมีกำลังการผลิต 478 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 3  แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับ บริษัท โกลว์  เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 6 แห่ง และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ VSPP อีก 2 แห่ง 

ส่วนโรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างพัฒนา 4 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 65เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2561 และ 2562  รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 2 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับกัลฟ์ เอ็มพี โรงไฟฟ้าพลังแสอาทิตย์ VSPP อีก 1 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ VSPP อีก 1 แห่ง ซึ่งร่วมมือกับโกลว์และสุเอซ ผ่านธุรกิจร่วมทุน บริษัท ชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี จำกัด  หรือ CCE  

'ข้อจำกัดของการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กคือจะไม่เกิดแล้วเพราะไม่มีการให้ใบอนุญาต ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทจึงเน้นเข้าไปร่วมลงทุนซะส่วนใหญ่ รวมไปถึงพวกพลังงานทดแทนเช่น โซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟ ชีวมวลมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งบริษัทจะลงทุนเอง'

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมการให้บริการพลังงานจากก๊าซธรรมชาติซึ่งได้มีการลงทุนรวมกับ พันธมิตร 3 ราย ประกอบด้วย มิซุย , โตเกียวแก๊ซ และ บริษัท กัลฟ์  หรือ GULF  โดยบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 35% เพื่อรองรับความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อน เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์  อุตสาหกรรมทำแผ่นยิปซัม ซึ่งอยู่ในธุรกิจ S cave  เพราะกลุ่มนี้จะใช้ไฟฟ้าทำความร้อนมากกว่าเพราะควบคุมได้ดีกว่าสามารถคำนวณได้แม่นยำมากกว่าแต่ก็จะมีราคาแพงกว่าพลังงานอื่นๆ 

ขณะเดียวกันยังมีการนำขยะมาสร้างพลังงาน  ได้เริ่มโปรเจคแรกเพื่อเป็นโครงการนำร่องสร้างปี 2562 สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้เลย 6.9 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแนวทางจะทำเฟส 2 ต่อ แต่ต้องดูสิ่งแวดล้อม และเสียงสะท้อนจากชุมชนอย่างไรบ้างก่อนจะไปต่อโครงการต่อไป 

อย่างไรก็ตามรายได้หลักๆ ของบริษัทยังมาจากธุรกิจบริหารจัดการน้ำ และบำบัดน้ำเสียในนิคมฯ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  ปลายปีที่ผ่านมามีการเติบโตจากลูกค้าโรงงานใช้น้ำเพิ่มเฉลี่ย 4-6 % แต่ปีนี้ มีลูกค้าโรงไฟฟ้า 1 โรง ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเดินกำลังผลิตเต็มที่ซึ่งจะใช้น้ำประมาณ  1 ล้านลูกบากเมตรต่อปี ทำให้มีกำลังผลิตเป็น 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  เพิ่มขึ้น 13 % จากปีก่อน  

ท้ายสุด 'วิเศษ' บอกว่า บริษัทจะมีปริมาณการขายน้ำที่โตอีก โดยในปี 2563-2565 จากลูกค้าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) เพิ่มขึ้น 1 โรง ขนาดกำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์  ซึ่งทำให้รายได้ในส่วนนี้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง...!!!  

ยุทธศาสตร์ภายใต้ 'อีอีซี'    

'วิเศษ จูงวัฒนา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ หรือ WHAUP บอกว่า ในปัจจุบันยอมรับว่าธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ 'อีอีซี' ต่างเตรียมยุทธศาสตร์การเติบโตไว้รองรับหมดแล้ว เพราะด้วยการแข่งขันในผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่รายหลายยังเพิ่มหน้าใหม่ ทุนหนาเข้ามาลงทุนกันจนไล่รายชื่อเศรษฐีไทยระดับแนวหน้าได้ครบทุกคน 

ดังนั้นกลุ่ม WHA มีพื้นที่ในภาคตะวันออกมากที่สุดรายหนึ่งซึ่งถือว่าเป็น 'จุดแข็ง'  และยังทำธุรกิจครอบคลุมกับลูกค้าในนิคมฯ ด้วยการเสนอขายที่ดิน คลังสินค้า จัดการระบบโลจิสติกส์  บริการสาธารณูปโภค จนไปถึงงานด้านดิจิทัล ดังนั้น WHAUP หนึ่งในงานด้านบริการสาธารณูปโภคต้องเติบโตไปพร้อมกับบริษัทแม่  

อย่างไรก็ตาม ประเมินหากอีอีซีเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ธุรกิจบริหารจัดการน้ำจะเกิดขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าในพื้นที่ทุกรายต้องใช้ ยิ่งลูกค้าโรงไฟฟ้าด้วยแล้วจะมีปริมาณการใช้น้ำที่สูงกว่าลูกค้ารายอื่น ๆ

 ขณะเดียวกันแนวโน้มอุตฯ แบบ S cave  ทำให้เกิดลูกค้าใหม่ในกลุ่มสินค้าไฮเทค ซึ่ง มีความต้องการด้านบริหารจัดการน้ำเสียภายในพื้นที่โรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดใหม่ให้บริษัทและมีผลต่องานด้านบริการจะเติบโตขึ้นด้วย

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าจะมีความต้องการโรงไฟฟ้าใกล้แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในโรงงาน โรงแบตเตอรี่ และพลังงานทดแทนอื่นๆ  ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น 4-5  ปีจากนี้ไป เนื่องจากลูกค้าที่ยังไม่มาเพราะอีอีซียังไม่ได้ลงทุน เพราะว่าปัจจุบันยังรอ พ.ร.บ. ก่อน และเมื่อลงทุนแล้วใช้ระยะเวลา 1-2 ปี ในการสร้างโรงงาน