พาณิชย์ ยกผ้าครามย้อมสีจากอีสาน มาจำหน่ายในพระนคร

พาณิชย์ ยกผ้าครามย้อมสีจากอีสาน มาจำหน่ายในพระนคร

“พาณิชย์” เปิดงาน “มนต์เสน่ห์อีสาน เมืองแห่งผ้าครามย้อมสีธรรมชาติ” นำผลิตภัณฑ์ผ้าครามย้อมสีธรรมชาติ มาจำหน่ายในพระนคร คาดมียอดขายไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงาน “มนต์เสน่ห์อีสาน เมืองแห่งผ้าครามย้อมสีธรรมชาติ : E-san the city of natural indigo fabric” ที่ลาน Eden 1 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (Central World) ระหว่างวันที่ 4-8 เม.ย.2561 ว่า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับจังหวัดสกลนคร โดยนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ได้นำผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าผ้าครามย้อมสีธรรมชาติและสิ่งทอที่เกี่ยวข้องในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 50 ราย ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย มหาสารคาม บึงกาฬ ขอนแก่น หนองคาย นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และชัยภูมิ นำสินค้ามาจัดแสดงและจำหน่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายให้กับผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตสินค้าชุมชน โดยคาดว่า ในการจัดงานครั้งนี้ จะมียอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท

สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าครามย้อมสีธรรมชาติที่นำมาจัดแสดงและจำหน่าย เช่น ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป (เสื้อ กางเกง กระโปรง ชุดเดรส สูท ผ้าซิ่น ผ้าถุง) ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าเดินทาง หมวก ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้ารองจาน และของที่ระลึก เป็นต้น

นางนันทวัลย์กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังมีแผนเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผ้าครามธรรมชาติ โดยได้หารือห้างสรรพสินค้าทั้งในส่วนกลางและในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิต ประสานศูนย์โอทอปของจังหวัด ศูนย์จำหน่ายของที่ระลึกในจังหวัดต่างๆ ตลาดประชารัฐ ตลาดต้องชม คิงเพาเวอร์ และการนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในส่วนกลาง ระดับจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้า

ส่วนในตลาดต่างประเทศ มีแผนผลักดันการส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดที่นิยมผ้าครามของไทยอยู่แล้ว รวมถึงตลาดในเอเชียที่มีความสนใจผ้าครามจากธรรมชาติ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และเม็กซิโก เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเข้าไปช่วยพัฒนาและเพิ่มช่องทางการค้าขายผ่านทางอีคอมเมิร์ซ โดยผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ เพราะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ตลอดเวลา และขายได้ทั้งประเทศ ทำให้มีโอกาสในการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น

นางนันทวัลย์กล่าวว่า นอกจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้ผลิตผ้าคราม กระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะผลักดันให้แหล่งผลิตผ้าคราม โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งเรียนรู้และที่ท่องเที่ยวสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยจะส่งเสริมและผลักดันให้เข้าไปเที่ยวชมกระบวนการผลิต การปั่นฝ้าย การทอผ้า การย้อมผ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็จะส่งเสริมในลักษณะเดียวกัน เช่น แหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่ชนบท จังหวัดขอนแก่น ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ้าไหมกาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น