เผยแนวโน้มโลกหันสนใจสตาร์ทอัพด้านB2B แนะปัจจัยตอบโจทย์ธุรกิจ-ผู้บริโภค

เผยแนวโน้มโลกหันสนใจสตาร์ทอัพด้านB2B แนะปัจจัยตอบโจทย์ธุรกิจ-ผู้บริโภค

 AddVentures เผยแนวโน้มโลกเข้าสู่ยุคสตาร์ทอัพด้าน B2B หลังสตาร์ทอัพB2C หลายรายโตเต็มวัย ขึ้นแท่นครองตลาด แนะปัจจัยตอบโจทย์ Pain Point เอื้อผลิตเทคโนโลยีโดนใจภาคธุรกิจ-ผู้บริโภค ชูเทรนด์มาแรงด้าน B2B พร้อมจับตาบทบาทจีนในอาเซียน

ดร.จาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures โดยเอสซีจี เปิดเผยว่า แนวโน้มของโลกขณะนี้ มีสตาร์ทอัพที่ผลิตเทคโนโลยีตอบโจทย์การทำงานของภาคธุรกิจต่อภาคธุรกิจ (B2B) มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการผลิตเทคโนโลยีตอบโจทย์ภาคธุรกิจต่อผู้บริโภค (B2C) จนปัจจุบันหลายรายสามารถเติบโตกลายเป็นสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ ขึ้นแท่นเจ้าตลาดในเซ็กเตอร์ของตัวเอง ส่วนผู้เล่นรายใหม่ต้องแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิม แตกต่างจากด้าน B2B ที่ยังมีช่องว่างให้สตาร์ทอัพเข้ามาเติบโตได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาสตาร์ทอัพด้าน B2B นั้น มีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องมีผู้ที่เคยมีประสบการณ์โดยตรงและมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมมาร่วมทำงาน เพื่อให้สามารถเข้าใจกระบวนการต่างๆ และสามารถหาวิธีมาช่วยแก้ปมปัญหาหลัก (Pain Point) ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้อย่างตรงจุด

4_1

"ความท้าทายของสตาร์ทอัพกลุ่ม B2B เมื่อเทียบกับกลุ่ม B2C คือ ลูกค้าในกลุ่ม B2B มักเคยชินกับพฤติกรรมและรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ จนเปลี่ยนแปลงได้ยาก อีกทั้งยังมีพฤติกรรมและปัจจัยการซื้อสินค้าแตกต่างจากกลุ่ม B2C ทำให้สตาร์ทอัพกลุ่ม B2B มักเจอกับปัญหาที่ซับซ้อนกว่าและใช้เวลานานกว่าในการแก้ไข Pain Point" นายจาชชัว กล่าว

ดังนั้น จึงมีหลายปัจจัยที่สตาร์ทอัพกลุ่ม B2B ควรให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ เช่น 1. เป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่มีคุณค่าในการนำเสนอต่อลูกค้า (Value Proposition) ได้อย่างชัดเจน สามารถใช้งาน ต่อยอด หรือประยุกต์ใช้กับระบบต่างๆ ขององค์กรได้ง่าย 2.สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน หรือ Return on Investment ได้อย่างรวดเร็ว และ 3. ไม่มีต้นทุนหรือต้นทุนต่ำในเรื่องการเปลี่ยนผู้ให้บริการ

2

นอกจากนี้ ปัจจุบันในเวทีโลกยังมีเรื่องที่กำลังมาแรงในแวดวงสตาร์ทอัพด้าน B2B ได้แก่ 1.Data Analytics 2. Internet of Things (IoT) 3. Artificial intelligence (AI) และ Machine Learning(ML) 4. บล็อกเชน (Blockchain) และ 5. อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) โดยทั้งหมดนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานระหว่างภาคธุรกิจต่อธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ในฝั่งของอาเซียนนั้น คาดว่าแนวโน้มเรื่อง AI ด้าน B2B จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอาเซียนนั้นถือเป็นศูนย์กลางการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม และยังต้องการ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดประสิทธิภาพในโรงงาน

ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตของสตาร์ทอัพอย่างน่าจับตามอง เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 และเป็นเรื่องน่าสนใจว่าจีนในฐานะประเทศใกล้ชิดของภูมิภาคนี้ จะเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในอาเซียนอย่างไรบ้าง จีนจึงถือเป็นประเทศที่ AddVentures ให้ความสำคัญและจับมองการเติบโตของสตาร์ทอัพอย่างใกล้ชิด 

ขณะที่สตาร์ทอัพ 3 กลุ่มหลักด้าน B2B ที่ AddVentures จับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ 1. กลุ่มB2B Online Commerce 2. กลุ่มโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (Logistics & Supply chain) และ 3.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินในห่วงโซ่อุปทานและสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนบล็อกเชน

5_3

ดร.จาชชัว กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน AddVentures ได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพแล้วกว่า 40 ราย ในลักษณะพันธมิตรทางการค้า (Commercial Partnership) เกือบทั้งหมดเป็นสตาร์ทอัพด้านB2B โดย AddVentures จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างสตาร์ทอัพและเอสซีจี รวมไปถึงบริษัทในเครือของเอสซีจีกว่า 300 บริษัท โดยเริ่มจากการทดลองเป็นลูกค้าของเอสซีจีก่อน และทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยมีทั้งโปรเจกต์ที่อยู่ในช่วงของการทำ Pilot Projectและบางโปรเจกต์ที่เล็งเห็นว่าสามารถต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจ รวมไปถึงการพิจารณาการลงทุนต่อไปในอนาคต

"การจะพิจารณาลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน B2B ของเรา ยังคงยึดมั่นวิสัยทัศน์ You Innovate, We Scale ลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ควบคู่กับการยกระดับสตาร์ทอัพอีโคซิสเท็มผ่านการเชื่อมโยงคนทุกกลุ่มเข้าหากัน เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค ตัวสตาร์ทอัพ รวมถึง AddVentures ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเทคโนโลยีนั้น และเมื่อทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ การเติบโตที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน" ดร.จาชชัว กล่าวปิดท้าย

6_3

สำหรับ AddVentures โดยเอสซีจี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2560 ก่อตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์หลักคือ ส่งเสริมศักยภาพและลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและทั่วโลก เพื่อให้เอสซีจีสามารถเชื่อมโยงนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งยังทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีแผนในการลงทุนทั้งการลงทุนผ่านกองทุน (Venture Capital) และการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ในสตาร์ทอัพทั้งในไทย อาเซียน และศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของโลก เช่น ซิลิคอนวัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, เทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล, เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. Industrial 2. B2B และ 3. Enterprise ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก3 กลุ่มของเอสซีจี ได้แก่ 1.ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 2. ธุรกิจเคมิคอลส์ และ 3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง