‘GooGreen’ รักษ์โลก

‘GooGreen’  รักษ์โลก

มองโอกาสของการสเกลธุรกิจ เพราะทุกๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน คือ ขยะ

แนวโน้มขยะในไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มปีละอย่างต่อเนื่องกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะรับมือ เพราะนอกจากปัญหาขยะตกค้าง ยังส่งผลไปถึงการอุดตันในท่อระบายน้ำจนก่อปัญหาน้ำท่วมให้คนกรุงต้องปวดหัวกันมาแล้ว

         “ขยะ” เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน และจัดการได้ง่ายนิดเดียว ขอแค่ปรับ “วิธีคิด” แล้ว “พฤติกรรม” ก็เปลี่ยนได้

          นั่นเป็นวิธีคิดของกลุ่มคนทำงานที่เรียกตัวเองว่า Social Enterprise ที่วันนี้หยิบเอาหลักคิดและการทำงานในแบบสตาร์ทอัพเข้ามาเสริมเพื่อหวังแก้ปัญหาระดับชาติที่ยากจะจัดการให้หมดไป หรือ ให้ดีขึ้น

        ฉัตรศนัน มาสว่างไพโรจน์ และณัชวรกานต์ ภรญ์รัฐนันท์สองผู้ร่วมก่อตั้ง GooGreen บอกถึงความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเร่งการทำงานในแบบ Social Enterpriseให้สร้างผลลัพธ์ที่กว้างกว่าแค่ “ชุมชน”

           ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ฉัตรศนัน มุ่งมั่นอยู่กับโปรเจ็คที่ชื่อ ธนาคารขยะออมทรัพย์ เป้าหมายคือ สร้างมูลค่าให้กับขยะด้วยวิธีการคัดแยกเพื่อสร้างรายได้กลับให้คนในชุมชน

           วิธีคิดที่ง่ายๆ ไม่ซ้ำซ้อน ในเรื่องของการทำงานก็เช่นกัน ฉัตรศนัน บอก หลายชุมชนสามารถลดปริมาณขยะ จากนั้นนำมาเปลี่ยนเป็นเงิน สร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวที่ผ่านมา เคยมีคนทำงานได้มากถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งก็สามารถไปใช้จ่ายเพื่อการเรียน และอื่นๆ

“เราเริ่มตั้งแต่ปี2554 มีการทำงานร่วมกับหลายชุมชน ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากหลายๆ ปัจจัย ผู้บริหารชุมชนเล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุน คนในชุมชนก็มองว่าเกิดประโยชน์แทนที่ทิ้งไปอย่างเดียว

จากนั้นก็เริ่มมองถึงการขยายสเกลงานSocial Enterpriseออกไปเพื่อให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง แล้วก็มาลงตัวว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดถ้าจับเอาการทำงานในแบบสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี เข้ามา

เพราะทุกครั้งที่สร้างรายได้นั่นเท่ากับ เราแก้ปัญหา และเป็นการแก้ปัญหาในวงที่กว้างมากขึ้น"

ความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีและวิถีของสตาร์ทอัพเข้ามาผสมผสานกับSEชัดเจนมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เริ่มจากการนำไอเดียเข้าร่วมประชันทั้ง Dtac Accelerate Batchที่ 2 จากนั้นก็เข้าร่วมประกวดในเวที NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) แม้จะไม่เข้ารอบ แต่ฉัตรศนันบอก “ไม่ได้เข้ารอบ ก็ไม่เป็นไร เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องปรับการทำงานอย่างไรต่อไป

กระทั่งได้เจอกับคนอื่นๆ ในทีม ได้แก่ ณัชวรกานต์ ผู้บริหารSincere Network Co.,Ltd.ประสบการณ์ด้านวิศวกรรมกว่า 20 ปี ที่มีมุมมองตรงกันในเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้าไปจัดการขยะ ร่วมด้วย รุ่นน้องที่ทำงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ จนรวมตัวแล้วร่วมกันพาGoogreen เข้าสู่รอบ 15 ทีมสุดท้ายโครงการ อลิอันซ์อยุธยา แอคทิเวเตอร์

     “Googreen” กับ “ธนาคารขยะ” ต่างกันอย่างไร

     ฉัตรศนัน บอกในกรอบคิดแล้วเหมือนกันคือ ทำอย่างไรจะบริหารจัดการขยะได้อย่างถูกต้อง ด้วยการคัดแยก แล้วนำขยะนั้นมาสร้างมูลค่า ได้แก่ พลาสติก กระดาษ โลหะ กระป๋อง ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนอยู่แล้ว

     ที่แตกต่างเป็นเรื่องของแพลตฟอร์ม การนำวิธีการคิดและเทคโนโลยีมาผลักดันให้เกิดขึ้น

     แม้จะต่างกันเรื่องเทคโนโลยี แต่หัวใจหลักเป็นเรื่องเดียวกัน คือการเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของคนในสังคม

    “จริงๆแล้วการทำงานแบบเดิมกับในแบบของสตาร์ทอัพไม่แตกต่างกัน ถ้าคุณแยกขยะคุณได้เงินแต่หัวใจหลักคือการขยายกลุ่มเป้าหมายเดิมทำกับโรงเรียนโรงงานแล้วก็ชุมชน

วันนี้ ขยายกลุ่มเป้าหมายเป็นอาคารสำนักงาน”

      การทำงานดังกล่าวเริ่มต้นจากการศึกษา และประสบการณ์การทำงานด้านขยะให้กับชุมชนเมืองในช่วงที่ผ่านมา เช่นกรณี การจับมือกับการเคหะแห่งชาติ ในนโยบายฟื้นฟูเมืองประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ ทีมงานจากโครงการธนาคารขยะได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อน จากการทำงานร่วมกับชุมชนทำให้เห็นถึงพฤติกรรมการก่อขยะ ระหว่างชุมชน โรงงาน และอาคารสำนักงาน

     “การคัดแยกขยะมาเพื่อออมเป็นเงิน เน้นให้มีการมีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อครบปีมีการจ่ายเงินปันผล ที่ผ่านมาผู้นำชุมชนมีส่วนผลักดันให้เกิดความตระหนักในปัญหา ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดการได้ค่อนข้างดี

      แต่ปัญหาที่เราเจอขยะชุมชนไม่ได้ก่อเยอะ ส่วนโรงงานจะมีระบบการจัดการขยะภายในโครงการตามมาตรฐานที่กำหนด

      ในกรณีของอาคารสำนักงาน แต่ละบริษัทอาจจะมี100-300คน จากการเก็บข้อมูลทำให้พบว่า คนที่ก่อขยะมากที่สุดคือคนที่มีรายได้ เนื่องจากมีกำลังซื้อ เมื่อเทียบกับชุมชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ พบอัตราการก่อขยะที่ต่ำกว่า”

      การทำงานของ Googreen ในเฟสแรกจึงมุ่งทำกิจกรรมกับกลุ่มคนทำงานในอาคารสำนักงาน กลุ่มเป้าหมายถัดมาก็คือ โรงงานอุตสาหกรรมในแถบนิคมอุตสาหกรรม

      “หลายๆ โรงงานที่เราลงไปทำมาก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ สำหรับมนุษย์เงินเดือนเชื่อว่าทุกคนตระหนักและรู้ดีว่าขวดน้ำสามารถแปลงเป็นเงินได้ แต่ยังขาดคนกลางเข้ามาคอยประสาน ซึ่งเราก็จะมาทำงานตรงนี้”

      ในกระบวนการทำงาน Googreen เตรียมพัฒนาออกมาในรูปของแอพพลิเคชั่น ให้ทุกคนที่สนใจทำการดาวน์โหลดเป็นสมาชิกเบื้องต้นมองไว้ที่1 ดอลลาร์สหรัฐ

      การทำงานยังต้องมีระบบโลจิสติกส์ และจุดรับของเอาไว้ ให้เพื่อสะดวก และง่ายสำหรับคนออฟฟิศ หรือแม้แต่ โรงงาน

     “กำลังวางแผนในเรื่องของจุดรับ และเส้นทางเพื่อให้ซัพพลายเออร์เข้าไปรับวัสดุที่สมาชิกแต่ละคนนำฝาก โดยหมุนเวียนไปตามแผนที่วางเอาไว้ในแต่ละโซน ซึ่งในตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแอพให้ตอบโจทย์และให้สะดวกในการใช้งาน”

      อย่างไรก็ดี สิ่งที่ “คิด” กับ “ผล” ที่จะได้รับอาจไม่เป็นไปตามคาดหวังก็ได้ สองผู้ร่วมก่อตั้ง Googreen เข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

      การจะดึงกลุ่มคนออฟฟิศเข้ามามีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

      ทั้งสองผู้ร่วมก่อตั้ง มองไว้ในปัจจัยที่เป็นบวก ถ้ามี Digitalเข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันให้เปลี่ยนพฤติกรรมด้านการจัดการขยะให้ดีขึ้น

      แอพพลิเคชั่นตัวนี้จึงทำขึ้นเพื่อให้ง่าย และสะดวกในการใช้งาน โดยให้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องบันทึกอย่างหนึ่งที่จะสามารถบันทึกการทิ้งขยะ พร้อมกับขึ้นตัวเลขให้

       ในเบื้องต้น งานซัพพอร์ตอื่นๆ ยังคงใช้บุคคล เช่น พนักงาน ณ จุดรับ เพราะมองว่าเป็นความรู้ใหม่ของคนไทยยังคงต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยสื่อสารวิธีการใช้วิธีการคัดแยก เช่น ขวดแชมพู ขวดแก้ว ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น

      นอกจากเทคโนโลยี แล้ว สิ่งจูงใจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดึงความสนใจที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

      “หากสิ่งที่ทิ้งนั้นสามารถสะสมแต้มเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือ Gift Voucher ถ้ามีระบบรองรับการแยกขยะจากนี้ พฤติกรรมคนจะยังทิ้งแบบเดิมอยู่มั้ย นี่คือแคมเปญต่างๆ ที่จะนำมาใช้

ในอนาคต ไม่เพียงสะสมแต้ม แลกของ และบัตรดูหนัง เท่านั้น ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี ยังแทรคได้ถึงการวัดค่าคาร์บอนเครดิตที่แต่ละคนทำได้

       เชื่อว่าความต้องการของคนไม่เหมือนกัน แต่แน่นอนเราต้องหาความต้องการให้ได้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบอะไรอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปค้นหาออกมา

       มนุษย์เงินเดือนวันนี้ใช้จ่ายไปกับอะไรมากที่สุดก็คือค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ตรงนี้เราอาจพัฒนามาเป็นแคมเปญเพื่อดึงให้ทุกคนเข้าร่วมกิจกรรม” ณัชวรกานต์ ภรญ์รัฐนันท์ กล่าว

สิ่งที่ต้องมุ่งมั่นก็คือการพัฒนาแอพพลิเคชั่น และผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง

      แม้ไม่ได้ไปต่อ สำหรับการเข้าสู่รอบท้ายๆ ในโครงการนี้ ทั้ง ฉัตรศนัน และ ณัชวรกานต์ มองว่า Googreen ยังคงมีโอกาส และต้องการจะเห็นว่า...แนวคิดนี้สามารถผลักดันไปสู่การทำงานเชิงนโยบาย โดยหน่วยงานรัฐรัฐบาล หรือ กรุงเทพมหานคร สามารถนำแอพนี้ไปให้กับประชาชนได้ใช้ เพราะจะช่วยลดงบประมาณค่าบริหารจัดการที่สูงมากในแต่ละปีลงได้

      หากมองให้ไกลกว่านั้น ไอเดียนี้ สามารถขยายไปทำกับต่างจังหวัด และต่างประเทศ เพราะทุกๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน คือ ขยะ

ตัวอย่างเช่น อินเดีย บังคลาเทศ ที่มีปัญหาเรื่องขยะ เราสามารถเอาแบบฟอร์มนี้ขยายไปได้ แม้แต่ เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม

      สิ่งที่เรามองไกลกว่านั้นก็คือ วันหนึ่ง โมเดลของการจัดการสิ่งแวดล้อมจะมีค่าเป็นเงินดิจิทัล

     “ด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้ยังไม่มีใครมอง แต่คนที่อยู่ในวงของการจัดการสิ่งแวดล้อมเริ่มมองเห็นตรงนี้” ผู้บริหาร Googreen กล่าว

ทำในสิ่งที่ถนัด

      “เราไม่คาดหวังว่าจะเข้าไปถึง1ใน3แต่ถ้าทำได้แสดงว่าคนเห็นอะไรบางอย่างที่เราทำอยู่ในตอนนี้ ถ้าคนตอบรับก็แสดงว่าเรามาถูกทาง” ณัชวรกานต์ กล่าว

โลกในอนาคตจะให้ความสำคัญกับ เครดิตคาร์บอน

     ทุกอย่างจัดเก็บไว้เป็น Database และ สามารถTrackได้หมด

     “สิ่งที่ระบบเราสามารถทำได้ เมื่อคนเริ่มมาใช้งานบนแพลตฟอร์มกันมากขึ้น นั่นหมายถึง เรากำลังเก็บ Database ให้กับรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากภาคประชาชนจริงๆ

เพราะการเข้าregistor จะใช้ ID Card 13หลัก แลกแต้ม และสะสมแต้มแบบไม่มีวันหมดอายุ

     ถ้าข้อมูลพวกนี้ไปถึงภาครัฐสามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ว่าใครบ้างที่แยกขยะใครบ้างที่ไม่ทำ แล้วออกมาตรฐานต่างๆ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วม”

     การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้คือ คำปรึกษาที่จะไกด์ให้เราเดินได้ถูกทาง